อดีต ส.ส.ปชป. แจงปฏิรูป 3 ส่วนการเมือง ศก. สังคม ชี้อาจใช้เวลา แต่ต้องเร่งแก้การเมือง เป็นธรรมปลอดโกง สอบได้ รับยังไม่ชัดเจนเหตุรัฐกุมอำนาจยุบสภาหวังฟอกผิด ยันไม่แก้ปัญหาหากเมินปฏิรูป ฝืนเลือกมีวุ่น เพิ่มปัญหา ย้อนบทเรียนล้างผิดแก้ รธน. ย้ำนายกฯ ต้องเสียสละ เพราะมีอำนาจแก้วิกฤต ยกความชอบ กม.ต้องมากับความชอบธรรม ย้อนทำผิดไม่รับผิดชอบ จี้ตัดสินใจช้ายิ่งแย่ ยันไม่มีใครปัดเลือกตั้ง แต่ต้องบริสุทธิ์
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความพยายามจากหลายฝ่ายในการหาทางออกให้แก่ประเทศจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยการปฏิรูปประเทศไทยว่า การปฏิรูปประเทศประกอบด้วย 3 ส่วนคือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้บางเรื่องอาจจะใช้เวลาไม่นาน แต่บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาการเมืองจึงจำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยจะต้องปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจรัฐเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม มีการปฏิรูปการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างมีคุณธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน และใช้อำนาจรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศชาติโดยรวมมากกว่าใช้เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว และต้องมีการปฏิรูปการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม รวดเร็ว เชื่อถือได้ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายบนพื้นฐานของนิติธรรม เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการเมืองจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจ และสังคม
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ความพยายามที่จะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะจากรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐได้ใช้วิธีการในการยุบสภา และการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการฟอกขาวให้รัฐบาล มากกว่าจะใช้อำนาจรัฐที่มีนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และด้านอื่นๆ ตามมา ดังนั้น การที่นายกฯ ทำเช่นนี้จึงไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือยุติวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน ตราบใดที่กระบวนการการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนหนึ่ง หากเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งต่อไปจะไม่ใช่วิธีการยุติวิกฤตการเมืองได้ เพราะแค่เริ่มต้นกระบวนการการเลือกตั้งก็เห็นถึงความขัดแย้งที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว
“จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้าการเลือกตั้งยังเดินหน้าต่อไปกระบวนการของการเลือกตั้งนับจากนี้ไปจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นปกติ เกิดปัญหา มีความปั่นป่วนวุ่นวายเกิดขึ้น จนอาจจะไม่สามารถดำเนินการไปจนถึงวันเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น การปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้โดยไม่ยับยั้งแต่เดินหน้าต่อ จะสร้างปัญหามากกว่าที่จะทำให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง เพราะนายกฯ และรัฐบาลก็เห็นอยู่แล้วว่าการดันทุรังในสิ่งที่เกิดปัญหาไม่สามารถดันทะลุซอยได้ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือความพยายามในด้านอื่นๆ ที่จะใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรมก็ไม่ประสบผลสำเร็จ”
ดังนั้น วันนี้รัฐบาลที่มีอำนาจรัฐในมือมีส่วนที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองได้ ข้อเสนอจากนักวิชาการไม่สามารถบรรลุผลได้ ถ้านายกฯ ไม่เสียสละบางส่วนในฐานะเป็นผู้มีอำนาจรัฐ บุคคลอื่นที่เสนอข้อเรียกร้องล้วนไม่มีอำนาจในมือ เมื่อนายกฯ มีอำนาจ และสามารถแก้วิกฤตการเมืองได้จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนท่าที และบทบาทของนายกฯ และรัฐบาลให้เป็นบทบาท และท่าทีในการแก้วิกฤตมากกว่าที่จะคงรักษาบทบาทที่จะเพิ่มวิกฤตให้บ้านเมืองมากกว่า
“นายกฯ ต้องคำนึงตลอดเวลาว่า สิ่งที่นายกฯ พยายามอ้างว่าการดำเนินการของนายกฯ หรือรัฐบาลเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ผมคิดว่าไม่เพียงพอต่อการแก้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมด้วย เพราะความชอบด้วยกฎหมายต้องควบคู่ไปกับความชอบธรรม จึงจะแก้วิกฤตบ้านเมืองได้ จึงขอให้นายกฯ พิจารณาอย่างจริงจังเพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที ยิ่งตัดสินใจช้ายิ่งเพิ่มปัญหาให้ชาติบ้านเมือง และนับจากเกิดวิกฤตการเมืองตั้งแต่ล้างผิดคนโกงมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นนายกฯ และรัฐบาลรับผิดชอบแต่อย่างใด การยุบสภาไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบ แต่เป็นเพราะจนตรอกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่ผิดพลาดในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม หรือแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.เป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดจนส่งผลกระทบต่อชาติบ้านเมือง แต่ปรากฏว่า นายกฯ และรัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อจนตรอกก็แก้ปัญหาด้วยการยุบสภา ซึ่งนายกฯ ทราบดีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตราบใดที่การยุบสภายังไม่ได้เป็นการยุบสภา และเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในบ้านเมือง ไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย แต่ที่คนส่วนหนึ่งปฏิเสธเป็นเพราะเห็นว่าการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานฉ้อฉล ไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม จึงไม่ยอมรับวิธีการนี้” นายองอาจกล่าว