135 อาจารย์ ออกจดหมายติง ทปอ. อ้างข้อเสนอของ ทปอ.ส่งผลต่อประโยชน์ และความได้เปรียบทางการเมืองของบางกลุ่ม กอดหลักการมหาวิทยาลัยต้องเป็นกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณาจารย์ 135 คน จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่เนื้อหาว่า ท่าทีของ ทปอ.ในสถานการณ์วิกฤตการเมือง ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาคมทางวิชาการของประเทศ และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาวด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ
1.การแถลงท่าทีของ ทปอ. ต่อสถานการณ์ทางการเมือง ทปอ.ได้จัดการประชุมกันเอง โดยไม่ได้รับฟังความเห็น และข้อถกเถียงจากประชาคมมหาวิทยาลัยของตัวเอง
2.การนำเสนอความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของ ทปอ.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเสนอทางออกโดยให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางนั้น เป็นแนวทางที่มีแนวโน้มขัดต่อหลักการ และเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ
3.ข้อเสนอของ ทปอ.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อประโยชน์ และความได้เปรียบทางการเมืองของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มอย่างชัดเจน
4.มหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และช่วยนำพาสังคมข้ามพ้นวิกฤตในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า มหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการของประชาคมของตน และของสังคมโดยรวม การที่ ทปอ.นำมหาวิทยาลัยไปผูกอยู่กับจุดยืนทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคน จึงเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศที่เชิดชูเสรีภาพ และความหลากหลายทางความคิดอันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาสังคมข้ามพ้นความขัดแย้ง
ทั้งนี้ รายชื่ออาจารย์ที่ร่วมลงชื่อ เช่น นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางกฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น