อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด บรรยายนักศึกษา เผยนักวิชาการตีความกฎหมายโดยไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นไป ชี้เมื่อก่อนบริหาร-นิติบัญญัติ คานอำนาจกัน แต่ปัจจุบันหมดไป จำเป็นต้องมีองค์กรตรวจสอบด้วยกฎหมาย เผยศาลไม่ใช่องค์กรการเมือง ให้เลือกตั้งเข้ามาไม่เป็นอิสระ เผยสถานการณ์บ้านเมืองเลยจุดที่คุยกันแล้ว ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ว่าอะไรผิด-ถูกก่อน การปฏิรูปจะมาเอง
วันนี้ (29 พ.ย.) นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แนวคิดและหลักพื้นฐานของกฎหมายมหาชน” ให้กับนักศึกษาหลักสูตร “นักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง” (บยป.) รุ่นที่ 5 ของสำนักงานศาลปกครองว่า เป็นห่วงบ้านเมืองมาก เวลานี้คนมองไม่ออกว่าความถูก ความผิด ความดี ความชั่ว มันคืออะไร และตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านกฎหมายมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าดูเหมือนบ้านเราจะมีปัญหาในเรื่องกฎหมาย และนักกฎหมายมาก 2-3 ปีมานี้นักวิชาการกฎหมายเมืองไทยเป็นกันง่ายมาก บางคนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เพียงข้ามคืนก็กลายเป็นผู้ที่รอบรู้เชี่ยวชาญกฎหมายไปในสายตาของสังคม
“อย่าง 1-2 ปีก่อนมีคดีๆ หนึ่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีนักวิชาการรัฐศาสตร์คนหนึ่ง เคยเป็นรัฐมนตรีคลัง ออกมาเขียนบทความในทำนองว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ไม่ถูก โดยอ้างหลักความสูงสุดของรัฐสภา คือรัฐสภาออกกฎหมายอะไรออกมาไม่มีองค์กรไหนในโลกที่จะมาล้มล้างแก้ไขได้ ซึ่งจริงๆ หลักที่ว่านี้มันมีอยู่จริง แต่ก็จะมีเหลือแต่อยู่ในอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ แต่ที่มันน่าอัศจรรย์ คือนักวิชาการคนดังกล่าวกลับไม่มองว่า ณ เวลานั้น หรือปัจจุบันหลักกฎหมาย และการปกครองมันได้มีวิวัฒนาการไปสู่หลักการปกครองประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด สรุปง่ายๆ ผมว่าบ้านเรามีปัญหาในเชิงวิชาการมาก เพราะนักวิชาการเราเข้าใจ และถ่ายทอดสิ่งที่เข้าใจนั้นไปโดยโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปให้ถ่องแท้” นายอักขราทร กล่าว
นายอักขราทร กล่าวต่อว่า ระบบการคานอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารมีอยู่จริงในอดีต แต่เมื่อปัจจุบัน ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติมีที่มาจากจากการเลือกตั้งเดียวกันโดยแบ่งส่วนหนึ่งไปเป็นฝ่ายบริหาร อีกส่วนเป็นฝ่ายนิติบัญญิติ ทำให้การคานอำนาจระหว่างกันหมดไป จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกควบคุมโดยรัฐธรรมนูญและมีองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายคือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีข้อขัดแย้งหนึ่งที่มีการพูดกันมากว่า แล้วตุลาการเอาความชอบธรรมมาจากไหน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งก็มีในต่างประเทศที่ตุลาการมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็น้อยมาก อีกทั้งองค์กรตุลาการ และศาลไม่ใช่องค์กรการเมือง แต่เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม ถ้ามาจากการเลือกตั้งมันก็ไม่อิสระ นอกจากนี้ มีการพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไปตัดสินตัวแทนของประชาชนที่ออกกฎหมายได้อย่างไร หลักกฎหมายมหาชนเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา ไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะบุคคล 2 ฝ่าย คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน แต่เป็น 3 ฝ่าย ที่รวมถึงรัฐด้วย โดยต้องมองให้ลึกซึ้งว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการอย่างนั้นเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐหรือเปล่า
“ความเดือดร้อนของการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะบังเอิญ ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญมีการกำหนดอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในแต่ละกรณีกว้างแคบแตกต่างกันไป เช่น บางเรื่องก็ให้มีความอำนาจยับยั้ง บางเรื่องก็ให้สั่งยุติได้ โดยยึดแบบอย่างของเยอรมัน ซึ่งอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีต่างๆ แม้จะเกิดขึ้นในยุโรป แต่ที่ถือว่าเกิดขึ้นจริงๆ เป็นกรณีในอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1803 หรือ 200 กว่าปีที่แล้ว ที่ศาลสูงหรือศาลฎีกาสหรัฐมีคำพิพากษาออกมาว่ากฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐออกมานั้น ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญสหรัฐก็ไม่ได้เขียนให้ศาลสูงมีอำนาจวินิจฉัย ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไรตรงไหนว่าศาลฎีกาสหรัฐมีอำนาจจะมาวินิจ ไม่เหมือนกับประเทศไทย ซึ่งเห็นว่าทุกเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เราก็ไม่เคยที่จะไปศึกษา” นายอักขราทร กล่าว
หลังจากนั้น นายอักขราทร ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ว่า มองยังไม่เห็นว่าทางสิ้นสุดของปัญหาจะอยู่ที่ตรงไหน แต่สภาพบ้านเมืองในขณะนี้มันจะเดินต่อไปได้หรือไม่ และเห็นว่าสถานการณ์ก็เลยจุดที่ 2 ฝ่ายจะสามารถพูดคุยกันแล้ว สิ่งสำคัญที่ตนมอง คือทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ก่อนว่าอะไรผิด อะไรถูก มีคนพูด 2 คนกับประชาชน ต้องมีคนหนึ่งที่พูดผิด ซึ่งสื่อมวลชน และนักวิชาการ สำคัญมาก เพราะสื่อมวลชนคือคนที่อยู่ใกล้ชิดสถานการณ์และอยู่กับข้อเท็จจริงต้องไม่เพียงนำเสนอ แต่ต้องบอกได้ว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก ส่วนที่มีการเสนอเรื่องนายกพระราชทาน มันก็เลยจุดนั้นมาแล้ว และที่มีการเอ่ยชื่อตน ก็พูดกันไปอย่างนั้น ตนขายไม่ออกหรอก ช่วยได้ก็ในแง่เอาใจช่วยให้บ้านเมืองแก้ไขปัญหาได้เท่านั้น และก็อยากให้ และอยากถามว่า ที่เรามีปัญหากันอยู่นี้ ได้คิดถึงในหลวงกันบ้างไหมว่าท่านได้ทำอะไรต่างๆ ให้กับบ้านเมืองไว้มากมายแค่ไหน
“เรายังติดอยู่กับคำว่ามาจากการเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งความจริงต้องศึกษาให้มากกว่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดอีกเยอะ การปฏิรูปตอนนี้ยังไม่ต้องไปพูดถึง มันต้องพูดว่า จะทำให้ประชาชนรู้ผิดรู้ถูกก่อนได้ยังไงก่อน ถึงตรงนั้นการปฏิรูปมันจะมาเอง แล้วตอนนั้นมันจะไปหาใคร ไม่ใช่ทำคนเดียวมันจะต้องทำกันเป็นทีม ผมว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่พระสยามเทวาธิราชองค์เดียวที่จะช่วยคุ้มครองบ้านเมือง ต้องถึง 2 องค์ถึงช่วยคุ้มครองบ้านเมืองไหว” นายอักขราทร กล่าว