กกต.เผย พ.ร.ฎ.เลือกตั้งซ่อม 8 เขตมีผลแล้ว กำชับ จนท.ยึดระเบียบ ห่วงการเมืองไม่ปกติกระทบ วอนถอยคนละก้าว เผย กกต.ยังทำงานที่ศูนย์ราชการได้ แต่ห่วงต่างจังหวัด เพราะตั้งอยู่ในศาลากลาง เผยเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ใช้งบเพิ่มจาก 80 ล้าน เป็น 106 ล้าน เตรียมขอรับการจัดสรรจากรัฐบาล
วันนี้ (28 พ.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.8 เขตเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 7 เขตเลือกตั้งที่ 26 เขตเลือกตั้งที่ 29 จังหวัดชุมพรเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 2 ที่ขณะนี้ พ.ร.ฎ.กำหนดให้วันที่ 22 ธ.ค.เป็นวันเลือกตั้งมีผลใช้บังคับแล้ว และ กกต.กำหนดเปิดรับสมัครในวันที่ 2-6 ธ.ค.เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยมีหน่วยงานสนับสนุน กกต.จังหวัดในพื้นที่ 8 เขตเลือกตั้งเข้าร่วม
โดย นายประพันธ์ ได้เน้นย้ำว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งในบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ จึงขอให้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่าจำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลัก เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเป็นกลาง โปร่งใส สุจริต พยายามให้การจัดเลือกตั้งมีความบกพร่องน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสรรหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง การนับคะแนน เพื่อไม่ให้มีการนำมาร้องเรียนกันว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ รวมถึงเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองสูง ต้องพยายามให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองส่งผู้แทนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และการนับคะแนน เพื่อป้องกันการร้องเรียน และให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบถึงเหตุที่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม และการที่กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะประชาชนอาจเกิดความรู้สึกว่าทำไมจึงมีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง
ทั้งนี้นายประพันธ์ ยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ อาจทำให้การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างมีปัญหาได้ ซึ่งจะพยายามกำชับ กกต.ในพื้นที่ให้ดูแลเข้มงวด เพราะก็อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และอยากเตือนไปยังผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองว่า หากมีการขัดขวางการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น มีการกีดกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิ หรือมีการนำรถมากีดขวางไม่ให้มีการลงคะแนน ก็จะมีโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม กกต.อยากให้บรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น เพราะหากอยู่ในสภาพเช่นนี้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ทั้ง 2 ฝ่ายควรต้องยอมเสียสละ ถอยคนละก้าว ไม่ใช่รัฐบาลก็บอกไม่ยุบสภา ไม่ลาออก ฝ่ายต่อต้านก็บอกว่าถึงลาออก ยุบสภา ก็ไม่หยุดชุมนุม อย่างนี้บ้านเมืองก็แย่ เพราะความเสียหายไม่ใช่แค่ 2 ฝ่าย แต่คือประเทศไทยและคนไทย ดังนั้นถ้ายอมเสียสละ บ้านเมืองก็จะอยู่รอด ซึ่งคนเสียสละ อาจจะไม่ใช่คนแพ้ก็ได้
สำหรับกรณีที่มีบุกยึดอาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน กกต.และการบุกยึดศาลากลางจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง ของกลุ่มมวลชนโค่นล้มระบอบทักษิณนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า กกต.ก็ได้มีการหารือกัน โดยในส่วนของ กกต.กลางยังเห็นว่าอาจจะมีผลกระทบบ้างในแง่ความไม่สะดวก แต่ไม่ถึงกลับทำงานไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้ แต่ก็ได้ให้นโยบายว่าขอให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งทุกวัน จึงให้ทำงานอย่างระมัดระวัง แต่ที่ต้องย้ายสถานที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.8 เขตเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างจากที่กำหนดไว้ที่สำนักงาน กกต.มาเป็น รร.โนโวเทล เมืองทองธานี ก็เนื่องจากเป็นวันแรกหลังจากที่กลุ่มมวลชนเข้าไปยึดในศูนย์ราชการ ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถเดินทางเข้าไปทำงานได้ ประกอบกับเป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานภายนอก เกรงจะไม่สะดวก จึงได้ย้ายสถานที่ประชุม แต่ทั้งนี้หากการชุมนุมยื้ดเยื้อ โดยสำนักงาน กกต.ในต่างจังหวัด หากมีที่ตั้งอยู่ที่ศาลากลางและถูกมวลชนบุกยึด ก็ได้แจ้งขอให้ กกต.จว.พิจารณาเช่าหาสถานที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดใน จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ต่างก็ได้รายงานให้ทราบว่า ขณะนี้บางสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ในศาลากลาง และมีการบุกยึดของกลุ่มมวลชน จึงได้เช่าสถานที่ภายนอก และหากสถานการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะมีผลกระทบในการจัดการเลือกตั้งอยู่บ้าง เช่น ต้องหาสถานที่รับสมัครใหม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีการก่อกวนไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะขณะนี้ในทางข่าวพบว่า พรรคที่ ส.ส.เดิมลาออกก็เตรียมที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแล้ว แม้ในบางเขตเลือกตั้งจะมีกระแสข่าวว่าจะมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังได้มีการรายงานให้ทราบว่าการเลือกตั้ง 8 เขตจะใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งรวม 106 ล้าน ไม่ใช่ 80 ล้าน อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานสนับสนุนได้ของบประมาณในการสนับสนุนภารกิจเต็มกิจกรรม และเพิ่มสูงขึ้นในทุกกิจกรรม ทางเลขาธิการ กกต.จึงรับที่จะนำยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเจรจากับรัฐบาล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ แม้ก่อนหน้านี้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม กกต.จะใช้งบเหลือจ่ายในการดำเนินการ โดยที่ไม่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเลยกว่า 300 ล้านแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้ยอดค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงจำเป็นที่จะต้องตั้งขอรับการจัดสรรจากรัฐบาล