xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง 3 วันอันตราย เผด็จศึกโค่นระบอบทักษิณ “สมรภูมิใน-นอกสภา” เดือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ณะนี้ถือว่าผ่านไปแล้วอีกหนึ่งวัน ใน 3 วันนับถอยหลังเผด็จศึกระบอบทักษิณที่ต้องจบภายในไม่เกินพุธที่ 27 พ.ย. ตามที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำเวทีถนนราชดำเนิน ลั่นไว้เมื่อวันที่มวลมหาประชาชนนับล้านออกมาร่วมชุมนุมกันเมื่อ 24 พ.ย.ว่า “ศึกนี้ไม่ชนะ ไม่เลิก”

สถานการณ์การเมืองนับจากนี้...ต้องประเมินกันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง หลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่จุดแตกหักเมื่อนายสุเทพเทือกสุบรรณ นำประชาชนเข้ายึด สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังและกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อบีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงจากอำนาจ ทั้งยังขู่จะดำเนินการยึดสถานที่ราชการไปเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะยอมแพ้

ตลอดทั้งวันที่ 25 พ.ย. การเคลื่อนขบวนดาวกระจาย 13 เส้นทางไปยังสถานที่ราชการสำคัญๆ และที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ของกลุ่มผู้ชุมนุมถนนราชดำเนิน รวมทั้งการเคลื่อนที่เดินทางของ คปท. พบว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนร่วมขบวนตั้งแถวกันอย่างหนาแน่น และสถานการณ์เข้มข้นเกือบทุกจุด

แน่นอนไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีมวลชนจำนวนมากร่วมขบวนตั้งแถวเดินจากถนนราชดำเนินไปยังสำนักงบประมาณที่ตั้งอยู่ติดๆ กับกระทรวงการคลังในย่านซอยอารีย์-คลองประปา นายสุเทพได้นำประชาชนเข้าตรึงภายในสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังเมื่อช่วงสายของวันที่ 25 พ.ย. พร้อมกับสั่งตัดไฟในพื้นที่ดังกล่าวบางส่วน โดยสุเทพขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะปักหลักยึดพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าจะมีการยุบสภา และหลังจากนี้ไปจะขยายการยึดพื้นที่สถานที่ราชการอีกหลายแห่งตามยุทธศาสตร์ “โค่นระบอบทักษิณ”

ขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการกองทัพอากาศ กองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย ก็พบว่ามีประชาชนไปร่วมขบวนกับแกนนำเวทีราชดำเนินกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้เหตุรุนแรงอะไร เช่นเดียวกับการเคลื่อนขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องต่างๆ ที่มีการเคลื่อนขบวนไปก็เป็นไปตามที่สุเทพ ประกาศไว้ เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือเอ็นบีที หรือช่อง 3 แถวถนนพระราม 4 ที่ก็ไม่ได้มีเหตุรุนแรงหรือการปะทะอะไร เป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ว่าขอให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เสนอข่าวรอบด้าน-ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากรัฐบาลจนไม่เหลือ “ศักดิ์ศรี” ของ “สื่อมวลชน” เหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ตั้งหลักอยู่ในที่มั่นตามแผนที่วางไว้ คือไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าทำให้เกิดเหตุปะทะที่รุนแรง เพราะรัฐบาลรู้ดีว่า หากเกิดอะไรขึ้นมาเพียงแค่ประชาชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะยิ่งทำให้อารมณ์ของมวลชนทวีความร้อนแรงขึ้นและคนจะออกมารวมกันตัวกันมากขึ้น

ดังนั้น สภาพการณ์ของรัฐบาลช่วงนี้จึงพยายามเลี่ยงการปะทะให้มากที่สุดแม้แต่การให้สัมภาษณ์อะไรต่างๆ ของแกนนำรัฐบาลก็พบว่าเวลานี้ พยายาม “ลดโทน” ลงอย่างเห็นได้ชัด หลังเห็นความจริงแล้วว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และระบอบทักษิณ มากขนาดไหน จากการออกมารวมตัวกันเมื่อ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

ดูแล้วฝั่งเพื่อไทยคงใช้วิธีการให้ “คนเสื้อแดง” เป็นด่านกันชนให้กับรัฐบาลไปเรื่อยๆ ในช่วงนี้เพื่อประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อน

ขณะที่การประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อ 25 พ.ย. 56 ปรากฏว่าหลังการประชุมไม่ได้มีการขยายอายุการใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่จะครบกำหนด 30 พ.ย.อย่างที่หลายฝ่ายคาดการแต่อย่างใด รวมถึงตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังประชุม ครม.ว่าขณะนี้ต้องรอประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และเมื่อถูกถามว่าจากสถานการณ์เวลานี้ ยืนยันนายกรัฐมนตรีจะไม่ลาออก-ไม่ยุบสภาใช่หรือไม่ คำตอบจากยิ่งลักษณ์ก็คือ “ค่ะ”

อันหมายถึงว่า ยิ่งลักษณ์ ก็คงปักหลักขอยืนสู้แบบขาสั่นๆ ไปก่อนเพื่อประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะทักษิณและพี่น้องชินวัตร รวมถึงแกนนำเพื่อไทยก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะยังเชื่อว่ายังคุมสถานการณ์ได้อยู่อันนี้ก็ต้องรอวัดใจกันไปเรื่อยๆ

ว่า “ยิ่งลักษณ์” จะทานทนได้อีกนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ออกมารวมพลังโค่นล้มระบอบทักษิณน่าจะชัดมากขึ้นในการขึ้นเวทีปราศรัยของสุเทพ ในช่วงค่ำวันที่ 25 พ.ย.ว่าอีกสองวันต่อจากนี้ คือ 26-27 พ.ย.ทางแกนนำจะนำพามวลชนไปในทิศทางใด จะยกระดับความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวจนถึงขั้นนำประชาชนเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญๆ เพิ่มขึ้นจากสำนักงบประมาณ-กระทรวงการคลังหรือไม่

และที่ต้องติดตามเป็นพิเศษก็คือ ฝ่ายกองกำลังเสื้อแดงที่ปักหลักกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน สุดท้ายจะขยับออกมาปกป้องช่วยเหลือยิ่งลักษณ์อย่างไรไม่ให้จนตรอก เพราะโดนประชาชนตีกรอบขับไล่

เชื่อว่า ฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และแกนนำเสื้อแดง คงหลีกเลี่ยงไม่ยอมที่จะให้เสื้อแดงย้ายตัวเองออกจากที่มั่นมาช่วยรัฐบาลเพราะหากเกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นมา รัฐบาลพังทันที

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เข้มข้น ยากจะประเมินได้ว่าสุดท้ายจะจบอย่างไรก็ต้องวิเคราะห์การเมืองในรัฐสภาไว้ล่วงหน้าก่อนเพราะจะมีความเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ออกมาโค่นล้มระบอบทักษิณด้วย

นั่นก็คือการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 26-27 พ.ย.นี้ ซึ่งหากไม่มีอะไรพลิกผันการเมืองขนานใหญ่ การซักฟอกคงได้เกิดขึ้นแน่นอน และน่าจะต้องถือได้ว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

เนื่องจากการเมืองนอกรัฐสภาเข้มข้น-ร้อนแรงและมีเดิมพันการเมืองสูงกว่าการซักฟอกในรัฐสภาอย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ก็ต้องผ่านพ้นศึกซักฟอกไปได้อยู่ดี จากมติเสียงข้างมากที่จะต้องลงมติไว้วางใจยิ่งลักษณ์-จารุพงศ์

ซึ่งก่อนหน้าการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น 1 วัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านฯ ยืนยันว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเต็มที่ โดยเบื้องต้นเตรียมขุนพลของพรรคขึ้นทำหน้าที่ซักฟอกไว้แล้วประมาณ 20 คน ซึ่งกรอบการอภิปรายก็จะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ

1. การบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดของนายกรัฐมนตรี เช่น การออกนโยบายที่ผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ 2. บริหารประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายและหลักการบริหารราชการแผ่นดิน โดยใช้อำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ไปทางเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง 3. มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ

ทั้งนี้ คาดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงร้อนแรงเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาและคงมีการนำสถานการณ์การเมืองหลายเรื่องเข้ามาอภิปรายด้วยเช่นกรณีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่ฝ่ายค้านจะโยงให้เห็นว่าเรื่องนี้ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย-ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติเป็นต้น

แต่ก่อนที่การอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ก็คาดว่าคงมีเหตุวุ่นวายในห้องประชุมให้เห็นกันแน่นอนทั้งเรื่องวัน-เวลาในการอภิปรายว่าตกลงจะเอากันอย่างไร จะให้เวลากี่วันกี่ชั่วโมงรวมถึงเรื่องเอกสารรายละเอียดข้อกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายวิปรัฐบาลยืนกรานว่าฝ่ายค้านจะต้องยื่นเอกสารทั้งหมดให้ผู้ถูกอภิปราย คือ ยิ่งลักษณ์ และจารุพงศ์ ได้เห็นข้อกล่าวหาด้วยเพื่อจะได้มีการเตรียมพร้อมในการชี้แจงได้รวมถึงก็คงมีการเชือดเฉือนคารมกันดุเดือดแน่นอนระหว่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์กับ ส.ส.เพื่อไทย ที่จะต้องลุกขึ้นทำหน้าที่ปกป้องยิ่งลักษณ์กลางสภา รวมถึงคงต้องประท้วงกันวุ่นวายหาก ส.ส.ประชาธิปัตย์อภิปรายพาดพิงถึงทักษิณ ชินวัตร

ส่วนที่ว่าหลังการซักฟอกจบลงและมีการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจกันแล้ว หากกระแสมวลชนจำนวนมาก ยังคงยืนกรานขับไล่ระบอบทักษิณ แล้ว ยิ่งลักษณ์ จะหาทางออกอย่างไร จะ “ยุบสภา” เพื่อแก้ปัญหาหรือจะดื้อด้านอยู่ในตำแหน่งต่อไป ต้องรอดูกันอีกเดี๋ยวก็รู้
กำลังโหลดความคิดเห็น