โจกแดงขนสาวกชุมนุมราชมังคลาฯ พรุ่งนี้ อ้างชาติกำลังถอยลงคลอง ประชาธิปัตย์ใช้ศาลรัฐธรรมนูญปล้นกฎหมาย ยันไม่มีกำหนดเลิก “ธิดา” อ้างตนเป็นพลังประชาธิปไตย ถูกอำมาตย์ครอบงำ ปลุกสู้ไม่งั้นหมดแน่ ทวงคุณอาชีวะอยู่ได้เพราะเพื่อไทย “จตุพร” โวยศาล รธน.เขียนคำรัฐประหารส่ง ป.ป.ช.ฟัน
วันนี้ (23 พ.ย.) ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อเวลา 11.00 น. นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พร้อมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ประกาศระดมมวลชนร่วมชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.2556 เวลา 18.00 น. ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ภายใต้ชื่อ “รัฐถูกประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อร่วมต่อสู้โดยชอบธรรม ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังถอยหลังลงคลอง จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้อำนาจอำมาตย์ ให้องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ปล้นรัฐธรรมนูญแบบลับๆ จากประชาชน จึงขอให้ประชาชนคนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงเตรียมตัวเดินทางเข้าร่วมชุมนุม เบื้องต้นจะปักหลักชุมนุมโดยไม่มีกำหนด เพื่อรอดูท่าทีจากกลุ่มผู้ชุมนุมราชดำเนิน ซึ่งยืนยันจะเป็นการชุมนุมในที่ตั้ง สงบ สันติ และไม่มีการนำมวลชนไปชนกับม็อบราชดำเนินอย่างแน่นอน
นางธิดา กล่าวว่า รัฐถูกรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในฐานะเราเป็นพลังประชาธิปไตยที่กำลังถูกระบอบอำมาตย์เข้าครอบงำโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอให้มวลชนออกมาร่วมต่อสู้ด้วยใจ ไม่อย่างนั้นประชาธิปไตยที่เราได้มาจะหมดไป ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ระดมกลุ่มนักเรียนอาชีวะเข้าร่วมชุมนุม โดยอาจารย์จะเป็นผู้ให้คะแนนนั้น กลุ่มอาชีวะอยู่ได้เพราะพรรคเพื่อไทย เนื่องจากสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ไม่มีการสนับสนุนอาชีวะ และพยายามผลักดันให้อาชีวะอยู่ในระบบของเอกชน จะเห็นได้ว่า จากการสำรวจระดับการศึกษาอาชีวะไม่เคยติดอันดับโลก แต่พอถึงสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้มีการยกระดับอาชีวะให้เห็นอย่างชัดเจน จึงอยากให้กลุ่มอาจารย์ นักเรียนอาชีวะ ทบทวนก่อนออกมาร่วมชุมนุม
ด้านนายจตุพร กล่าวว่า หลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับมีมติ 5 ต่อ 4 เสียงเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการปักลิ่มมาตั้งแต่ต้น จากนั้นจะมีการส่งไม้ต่อให้แก่ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจแทรกแซงฝ่ายนิติบัญยัติ คำวินิจฉัยดังกล่าวเปรียบเสมือนการเขียนคำสั่งรัฐประหาร