ASTVผู้จัดการ - คณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยันศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยแก้รธน.ระบุตุลาการชี้ชัดออกกฎหมายบิดเบือน แนะเข้าใจใหม่ประชาธิปไตยไม่ใช่เสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง ชูสุดกล้าตัดสินคดีแม้โดนวิพากษ์ยับ ถามไทยพร้อมเลือกตั้งวุฒิสภาแล้วหรือ วอนดูบริบทสังคม ชี้ควรศึกษาให้ดีก่อนแก้ไข คำนึงเสียงข้างน้อย เผยไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์แต่ตีความคุ้มครองสิทธิประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นให้ทัดเทียมนานาชาติ ฉะพวกข่มขู่ควรโดนโทษหนัก เชื่อไม่ยุบพรรคให้ชาติเดินหน้าได้ ลั่นยังแก้ทั้งฉบับได้แต่ต้องมีขั้นตอนที่ชอบธรรม
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสัมภาษณ์พิเศษกับเอเอสทีวีผู้จัดการ ถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.วานนี้ (20 พ.ย.) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เพราะศาลต้องเป็นผู้ชี้ขาดความขัดแย้ง การกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีคำร้องที่ไม่ผ่านอัยการสูงสุดแล้วศาลรับเรื่องไว้วินิจฉัยมาแล้ว เพราะศาลรธน.มีอำนาจที่กว้างกว่าตัวบทกฎหมายให้ไว้ ไม่ใช่ว่าไม่ผ่านอัยการมาก่อนแล้วศาลจะรับไม่ได้
รศ.ณรงค์ กล่าวว่า ประเด็นที่มา ส.ว.ศาลได้ชี้ชัดใน 2 เรื่อง คือใช้เสียงข้างมากในการกำหนดกฎหมายนอกกรอบของอำนาจ รธน.ซึ่่งทำไม่ได้ จะใช้พวกมากลากไปก็ไม่ควรทำ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐนิติธรรมด้วย ส่วนประเด็นที่สำคัญคือการที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากออกกฎหมายในลักษณะบิดเบือน แม้การพิจารณา 3 วาระรวด จะทำได้ แต่ต้องทำโดยคำนึงถึงผลกระทบและฟังความเห็นประชาชนก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยังเป็นความขัดแย้งอยู่ในสังคม เป็นเรื่องที่ไม่ควรเร่งพิจารณา 3 วาระรวด โดยไม่มีการตั้งกรรมาธิการ อันนี้คือช่องโหว่ที่สำคัญ ไม่เช่นนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกำหนดทิศทางอย่างไรก็ทำได้หมด ต่อไปจะแก้รัฐธรรมนูญก็ใช้เสียงข้างมากทำอะไรก็ได้
“วันนี้ต้องเข้าใจเสียใหม่ว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน ไม่ใช่เสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง คำว่าสภาผู้แทน คือผู้แทนของคนทั้งประเทศบนพื้นฐานเสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้แทนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง วันนี้ ผู้มีอำนาจปกครองประเทศยังขาดทศพิธราชธรรมอยู่มาก” รศ.ณรงค์ กล่าว
รศ.ณรงค์ กล่าวยอมรับว่า ศาลมีความกล้าพอสมควร ในการตัดสินคดีออกมาในรูปนี้ เพราะต้องโดนคำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าศาลตีความกว้างไปหรือเปล่า มุมมองก็คือกว้างแน่นอน แต่การกว้างแบบนี้มันนำไปสู่การปกป้องสิทธิของประชาชนเป็นเหตุผลที่โอเครับได้ ศาลพยายามตัดสินในส่วนเนื้อหาที่ให้เห็นชัดเจนว่าไม่ควรใช้เสียงข้างมากในการตะแบงออกกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
“เรื่องนี้หากเราปล่อยไปให้มีทั้ง ส.ว.-ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าเอากันแบบนี้ก็เท่ากับว่าเราลงทุนแค่ตอนเลือกตั้งครั้งเดียวจบ ที่เหลือเข้ามาแล้วก็สามารถคุมได้ทั้งหมด ต้องถามว่าประเทศไทยพร้อมกับระบบนี้แล้วหรือยัง ถ้าไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงก็ทำได้ เพราะเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ซึ่งยอมรับว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ดี แต่ประชาชนต้องซื้อไม่ได้ด้วย ประเทศหนึ่งอาจจะใช้ได้ดี แต่ประเทศเรายังนำมาใช้ไม่ได้ ทุกอย่างต้องดูบริบทของสังคมด้วยว่าเราเป็นแบบต่างประเทศเขาหรือเปล่า” รศ.ณรงค์ กล่าว
รศ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ศาลพยายามชี้ให้เห็นหลักว่าต้องคำนึงถึงความชอบธรรม อะไรที่เป็นความเห็นต้องไปถามประชาชนก่อน โดยอาจไม่จำเป็นต้องถึงขั้นทำประชามติ แต่อย่างน้อยต้องมีตัวแทนไปถามความเห็นภาคประชาชน และทำการศึกษาให้ดีก่อน เมื่อไม่ตกผลึกก็ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับร่างนิรโทษกรรมที่ประชาชนออกมาคัดค้าน เชื่่อว่าเรื่องนี้หากไปถึงศาล รธน.ก็ไม่ผ่านอยู่ดี หลักประชาธิปไตยจริงๆ ต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย เป็นระดับรัฐไม่คำนึงเสียงข้างน้อยโดนแยกดินแดนแน่นอน เพราะเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยศาลตามกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นตุลาการภิวัตน์หรือไม่ รศ.ณรงค์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์ แต่เป็นการตีความแบบกว้างที่นำไปสู่เหตุและผลของกฎหมายธรรมชาติที่ให้เนื้อหาในการคุ้มครองสิทธิเหนือตัวบทกฎหมาย แบบศาลอเมริกา ซึ่งเป็นแก่นแท้ในการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยืนบนหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกลิดรอนสิทธิ เพียงแต่เราเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อมารองรับสิทธิเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งการตีความของสิทธิมนุษยชนไม่อยู่ในตัวบทต้องอยู่ด้วยหลัก ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพัฒนาตรงนี้ได้ ต่อไปศาลจะเป็นหลักให้ประเทศได้อย่างดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาระบบศาลไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ
“แต่วันนี้เห็นได้ว่ามีกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มที่พยายามจะดิสเครดิตศาล หรือกระทั่งมีการข่มขู่ ว่าหากตัดสินไม่ถูกใจจะไม่รับรองความปลอดภัย หรือบุกถึงบ้านบ้าง โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศถือว่าเป็นโทษหนัก แต่ประเทศไทยกฎหมายยังไม่ครอบคลุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังมากขึ้น” รศ.ณรงค์ กล่าว
ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องยุบพรรคนั้น รศ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาบทบาทศาลในปัจจุบันคือความสมดุลที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ส่วนที่ไม่ตัดสินให้ยุบทั้ง 2 พรรค ก็เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้เชื่อว่าศาลเองมีธงคำวินิจฉัยอยู่แล้ว แล้วย้อนกลับไปหาเหตุผลให้กับธงที่ตั้งไว้
เมื่อถามว่า ต่อไปฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้อีกหรือไม่ รศ.ณรงค์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วหลักการแก้รัฐธรรมนูญนั้น สามารถทำได้ทั้งฉบับ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องถามว่าแก้แล้วมีขั้นตอนที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ถ้ากระบวนการเหมาะสมก็สามารถทำได้อยู่แล้วไม่มีปัญหา