xs
xsm
sm
md
lg

ดูชัดๆ ส.ส.-ส.ว.รวมหัวฟื้น “สภาทาส” ผิด รธน.มาตราไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรุปประเด็นสำคัญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.แฉพฤติกรรม ส.ส.-ส.ว.ทาสแม้ว หักดิบหลักกฎหมาย หวังฟื้นชีพ “สภาทาส-สภาผัวเมีย” ผิดรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง

ศาลฯ เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

ประเด็นการวินิจฉัย

ประเด็นที่ 1
กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

(1) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ (กรณีการปลอมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ)

ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอ หลายประการ โดยได้ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่า การดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรค 1

(2) การกำหนดวันแปรญัญัติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ…..ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) และผู้ถูกร้องที่ 2 (นายนิคม ไวยรัชพานิช) ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้ขออภิปรายถึง 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย และผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมปิดการอภิปราย เห็นว่า แม้การเปิดการอภิปรายจะเป็นดุลพินิจของประธาน และแม้เสียงข้างมากมีสิทธิที่จะลงมติให้ปิดการอภิปรายก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจและการใช้เสียงข้างมากดังกล่าวจะต้องไม่ตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือละเลยไม่ฟังความเห็นของฝ่ายข้างน้อย การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดการประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่้ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม

นอกจากนี้ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย้อนหลัง 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 วันที่สภาฯ รับหลักการ ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติเหลือเพียง 1 วัน
ศาลฯ เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1

(3) วิธีการในการแสดงตนและลงมติในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (กรณีการเสียบบัตรแทนกัน) ศาลเห็นว่า

1. เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 122 รัฐธรรมนูญแล้ว

2. ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123

3. ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจากมาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุมาแล้วข้างต้น ถือว่า เป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม


สรุป ประเด็นที่ 1 ศาลฯ วินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ โดยกฎหมายมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2

ประเด็นที่ 2
การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

ศาลฯ เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องนี้

1. เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะ และศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกันทำลายสารสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย

2. การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อันมีที่มาเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงย่อมเป็นเสมือนสภาฯ เดียวกัน ไม่เกิดเป็นความแตกต่าง และเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้ง 2 สภาฯ เป็นการทำลายลักษณะ และสาระสำคัญของระบบ 2 สภาฯ สูญสิ้นไป

3. การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบ 2 สภาฯ ต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการตอบแทนต่อประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

4. เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดบรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมากจากการตรวจสอบ

สรุป ประเด็นที่ 2 ศาลฯ วินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1

ส่วนที่ผู้ร้องขอยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น