เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก แจงอีกรอบ โวเส้นแผนที่กัมพูชาต้องตกไป ลดบทบาทแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เผยเส้นตามมติ ครม.ของไทยนั้นสามารถนำไปประกอบการเจรจาได้ รับมีข้อเสียแต่ข้อดีมีมาก พยายามศึกษาการเจรจา
วันนี้ (13 พ.ย.) นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฐานะหัวหน้าคณะการดำเนินการทางกฎหมายฝ่ายไทย คดีปราสาทพระวิหาร ชี้แจงต่อการอภิปราของสมาชิกรัฐสภา ว่า คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ได้ชี้ในประเด็นที่สำคัญ คือ เส้นแผนที่ 1:2 แสน ที่ถ่ายทอดฝ่ายเดียว ต้องตกไปทั้งหมด ในคดีปัจจุบันมีเพียงเส้นเดียวที่เป็นแผนที่ 1:2 แสน ที่ถ่ายทอด คือที่กัมพูชานำมาอ้างและเกิดพื้นที่ทับซ้อนจำนวน 4.6 ตร.กม.ส่วนเส้นมติ ครม.ไม่ได้เกี่ยวกับแผนที่ 1:2 แสน แต่เส้นมติ ครม.เพราะเชื่อว่าตรงกับเส้นสันปันน้ำที่ประเทศกัมพูชาต้องการในคดีเก่า
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าเส้นแผนที่กัมพูชาที่ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนจะต้องตกไป ไม่เหลือซากมากวนใจเราได้อีก ซึ่งต้องชี้แจงกับกัมพูชาให้เข้าใจ และไม่สามารถนำมาเริ่มต้นถ่ายทอดเป็นเส้นบริเวณแคบๆ ตามที่ศาลโลกระบุไม่ได้ กรณีที่ศาลโลกมุ่งไปที่ภูมิศาสตร์ เป็นประโยชน์กับไทย เพราะลดบทบาท แผนที่ 1:2 แสน ดังนั้นในการเจรจาต้องพิจารณาพื้นที่ หรือ สัณฐานตามภูมิศาสตร์ ตามที่ศาลระบุ ส่วนจะถ่ายทอดหรือมีการเจรจาอย่างไรนั้นต้องยึดกฎหมายระหว่างประเทศ คือการเจรจาโดยสุจริต ส่วนจะใช้กลไกใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ทั้งนี้หากการเจรจาโดยสุจริตทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถสรุปได้ว่าหน้าตาของเส้นจะเป็นอย่าง ใครจะเสียหรือจะได้เป็นอย่างไร ไม่สามารถด่วนสรุปได้ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามการวางแผนการเจรจาต้องมีการหารือภายใน ว่าจะเข้าพื้นที่อย่างไร หรือเข้าไปเจรจาอย่างไร
สำหรับเส้นตามมติ ครม.ของไทยนั้นสามารถนำไปประกอบการเจรจาได้ เพราะศาลไม่ได้ชี้ว่ามีปัญหาหรือไม่ยอมรับ ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลโลก ได้ให้สิ่งที่ดีอย่างยิ่งกับประเทศไทยในการนำไปเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ในระยะยาว คือ 1.เส้นที่ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ตกไป เพราะเส้นถ่ายทอดใดๆ ที่ทำฝ่ายเดียวศาลไม่ยอมรับ และ 2.ผลคำพิพากษาชัดเจนว่าสิ่งใดที่ออกนอกพื้นที่ กัมพูชาไม่สามารถนำไปอ้างได้ว่า เส้นเขตแดน บนแผนที่ 1:2 แสน ผูกพันกับไทยตามผลคำพิพากษาปี 2505 หากจะผูกพันหรือไม่ต้องไปเจรจา จะด้วยเหตุผลอื่นก็แล้วไป แต่สิ่งที่กัมพูชาทำมาตลอด 50 ปี ที่ระบุว่าศาลตัดสินไปแล้วและเส้นดังกล่าวว่ามีผลผูกพันกับไทย ขณะนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจำกัดเฉพาะพื้นที่และจำกัดด้วยขอบภูมิศาสตร์ด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตก ของ Promontory ที่จะเจรจากันต่อไป ซึ่งเกินไปจากนี้ไม่ได้แล้ว ขณะที่ผู้พิพากษาสมทบที่กัมพูชาตั้ง ยืนยันเช่นกันในวรรคที่ 11 ของความเห็นของผู้พิพากษาสมทบของคำแถลง
“ผมยอมรับว่ามีข้อเสีย แต่ข้อดีมีมากมายหลายประการ เรากำลังรวบรวมประเด็นข้อดี เพื่อเทียบกับข้อเสียแต่ว่าในแง่พื้นที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เพราะไม่ทราบว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราพยายามศึกษาว่าจะเข้าสู่การเจรจาอย่างไรให้ดีที่สุด” นายวีรชัย กล่าว