“รสนา” จับพิรุธ รบ. คืนดีโจกแดง หันใช้บริการ “เหลิม” เชื่อเป็นแผนเตรียมสลายม็อบ ชี้ยืมมือ “นิคม” รับออเดอร์ร่นเวลาถกนิรโทษสุดซอย หวังใช้เป็นกันชนฟอกความอำมหิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 พ.ย. เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า มีคนตำหนิ ส.ว. ที่ไม่เข้าประชุมว่าเป็นผู้ร้าย ใจอมหิต และถูกด่าว่าสาดเสียเทเสีย โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กลายเป็นพระเอกที่มีความหวังดีมาช่วยยุติความขัดแย้งของบ้านเมืองเพื่อไม่ให้คนมาฆ่ากัน ถ้ารัฐบาลไม่เป็นผู้กระทำการปราบประชาชน ไม่มีมือที่ 3 เข้ามาป่วน ดิฉันเชื่อว่าไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นได้
ส่วนที่เชื่อว่า นายนิคม เปลี่ยนนัดประชุมฉุกเฉินเพราะจากการเรียกร้องของประชาชนนั้น ลองไปย้อนอ่านข่าววันที่ 1 พ.ย. หลังการออก กม. ฉบับลักหลับตอนตี 4.25 น. ของวันเดียวกัน นายนิคม ให้สัมภาษณ์ว่าร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ดีมาก จะช่วยให้บ้านเมืองเดินไปได้ และตัวเขาเห็นด้วยกับร่างนิรโทษกรรมสุดซอยฉบับนี้
ถ้าลองไม่มีการลุกขึ้นต่อต้านจากประชาชนทั่วประเทศแบบนี้ รับรองได้ว่า ส.ว. สายของนายนิคมจะเห็นด้วย และโหวตรับร่างฉบับนี้ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในสภา มีร่าง พ.ร.บ.เพียงฉบับเดียวที่ถูกคว่ำในวุฒิสภา และร่าง พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ถูกคว่ำในสภา มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น
อย่างร่างแก้ไข รธน.190 ที่มีผลกระทบร้ายแรงพอๆ กับร่างนิรโทษกรรมที่สมาชิกรัฐสภาพร้อมใจยกอำนาจการตรวจสอบการทำสัญญากับต่างประเทศที่มีผลกระทบถึงการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้แก่ฝ่ายบริหาร รวมถึงการตัดสิทธิประชาชนในการมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูล และได้รับการฟังเสียงผ่านการทำประชาพิจารณ์ ส.ว. ก็โหวตให้ล้นหลาม
ไม่มีผู้แทนปวงชนในประเทศที่เจริญแล้วจะทำเช่นนั้น แต่ ส.ส., ส.ว. ไทยเราทำมาแล้วด้วยการผ่านการแก้ไข รธน.มาตรา 190 วาระ 3 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. นี้เอง
มาถึงเรื่องประชุมวันที่ 8 พ.ย. ที่นายนิคม ใช้วิธีหักดิบย้ายวันประชุมจากที่กำหนดไว้เดิม 11 พ.ย. มาเป็น 8 พ.ย. ถูกตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นการรับออเดอร์จากรัฐบาล
วุฒิสภาต้องทำงานอย่างเป็นอิสระโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใคร ถ้าวุฒิสภาถูกสั่งซ้ายหันขวาหันได้เหมือนสภาผู้แทนราษฎร เราคงไม่สามารถช่วยตรวจสอบถ่วงดุลได้ ก็จะเหมือน ส.ส. ที่ประชุมรวดเดียว 19 ชั่วโมง และลงมติวาระ 3 ผ่านร่างนิรโทษสุดซอยในเวลา 4.25 น. อะไรจะทำงานหนักเหมือนโรงงานนรกขนาดนั้น
แต่พอประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศลุกขึ้นคัดค้านเท่านั้นแหละ รัฐบาลก็รู้ว่ามาผิดซอยถึงกับถอยสุดซอยแบบไม่เป็นกระบวน ตอนนี้จะอาศัยวุฒิสภาเป็นผนังให้อิง เพื่อจะหยัดยืนขึ้นมาตอบโต้กลุ่มชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่
กลุ่ม ส.ว. ที่เคยจะสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมสุดซอยล้วนกลับหลังหันมาจะคว่ำร่างนี้แทน และลุกลี้ลุกลนจะต้องรีบ แถมชี้นิ้วด่าคนอื่นว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ส่วน ส.ส. จำนวน 310คน ที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.อัปยศฉบับนี้กลับลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ? มองข้าม ส.ส. และรัฐบาลผู้ก่อปัญหาตัวจริง แล้วมาเพ่งโทษ ส.ว. แทน
ที่ตั้งข้อสังเกตุว่า นายนิคม รับออเดอร์จากรัฐบาล เพราะดิฉันเห็นข่าวทีวีที่ถ่ายทอดสดการเคลื่อนขบวนของชาวธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 วันนั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ พร้อมชาวธรรมศาสตร์เดินเท้ามายื่นหนังสือคัดค้านร่างนิรโทษกรรมต่อวุฒิสภา ถูกสกัดจากกองทัพตำรวจ และแบริเออร์มากมาย ในข่าวเห็น ดร.สุรินทร์ คุยโทรศัพท์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ดิฉันไม่ทราบว่าเป็นใคร เพื่อขอให้เปิดทาง แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยเหตุผลที่ตำรวจท่านนั้นแจ้งคือ วุฒิสภาจะประชุมพรุ่งนี้ซึ่งคือวันที่ 8 พ.ย. อยู่แล้ว ไม่ต้องไปให้เสียเวลาไปทำนองนั้น
ตำรวจท่านนั้นรู้ได้อย่างไรว่า วุฒิสภาจะประชุมวันที่ 8 ทั้งที่ขณะนั้นการประชุมหารือเพื่อเลื่อนวันประชุมยังไม่ได้เริ่ม และวันประชุมหารือ นายนิคม ก็อ้างอำนาจประธานสั่งเปลี่ยนวันประชุมโดยไม่ฟังคำทักท้วง แสดงว่ามีการตระเตรียมวางแผนกันมาก่อนกับรัฐบาลใช่หรือไม่
สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ รัฐบาลต้องการให้วุฒิสภารีบโหวตให้จบเพื่อให้รัฐบาลเกิดความชอบธรรมที่จะปราบม็อบ ถ้าม็อบไม่สลายตัวในวันเสาร์-อาทิตย์นี้ใช่หรือไม่ ดูจากการขนตำรวจจำนวนมากเข้ามาเสริมตลอดเวลา
และดูจากการรีบคืนดีกับแกนนำ นปช.เพราะหวังจะใช้บริการคนเสื้อแดง ทั้งมีข่าวจะระดมเสื้อแดงจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อมาปะทะกับม็อบใช่หรือไม่
และดูจากการเปลี่ยนตัว พล.ต.อ ประชา พรหมนอก มาเป็น ร.ต.อเฉลิม อยู่บำรุง เพราะต้องการใช้บริการเฉลิม ที่เคยปราบม็อบเสธ.อ้ายสำเร็จมาแล้ว ใช่หรือไม่?
หากเหตุผลแท้จริงของการเปลี่ยนวันประชุมวุฒิสภาเพื่อนำไปสู่การเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนขึ้นมา ท่านคิดว่าแผนนี้อำมหิตกว่าหรือไม่?