xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้ “ปู” จ้อมัดตัวเองเอี่ยวล้างผิด ฉะ “นิคม” โลเล บี้รัฐเก่งสับขาแจงให้ชัดเอาไง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” แปลกใจ ปธ.วุฒิฯ แถลงคว่ำล้างผิด ชี้ต้องเป็นกลาง ย้อนขัดแย้งจุดยืนก่อนหน้านี้ แนะ ปชช.จับตา กม.ไม่ตก ปลุกแสดงออกไม่เอา กม.นี้ ชี้รัฐหวังลดกระแส จี้หาทางออก เอาให้ชัดอย่ากลับลำ เชื่อสภาปาหี่เหลว ย้อนรัฐที่บิดเบือนความจริง “จุรินทร์” ชี้นายกฯ ไม่ถอยจริง สับขาหลอกตามถนัด แนะช่องทำให้ชัดให้สบายใจ เย้ยไม่เอี่ยวจริงจะแถลงทำไม ย้ำท้าทาย ปชช. “องอาจ” ฉะปลัด พณ.ขี้ข้า เลิกกดัน ขรก.ต้านล้างผิด จับตาช่วงโยกย้ายถูกแกล้ง



วันนี้ (6 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่าการที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา แถลงท่าทีวุฒิสภาจะยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่ารู้สึกแปลกใจ เพราะปกติประธานวุฒิสภามีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นกลาง แต่วันนี้กลับกล่าวว่าสมาชิกจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งผิดปกติ และที่สำคัญรู้สึกว่าจุดยืนสมาชิกวุฒิสภาตรงข้ามกับการแสดงออกก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคนคัดค้านจะเคลื่อนไหวทำไม ทั้งนี้ ประชาชนต้องจับตาว่าวุฒิสภาจะมีท่าทีอย่างไร แม้วุฒิสภาจะไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ประชาชนก็ต้องทราบว่ากฎหมายยังไม่ตกไป แต่ถูกยับยั้งไว้เท่านั้น และส.ส.สามารถเสนอใหม่หลังจากผ่านไป 180 วันได้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปขึ้นเวทีปราศรัยที่สวนจตุจักรก็ประกาศว่าจะทำลักษณะนี้ ดังนั้น ต้องการให้ประชาชนแสดงออกว่าไม่ต้องกฎหมายฉบับนี้จริงๆ และอยากเห็นความชัดเจนจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยว่าจะทำอย่างไร เพราะการสื่อสารขณะนี้ต้องการลดกระแสคัดค้านและซื้อเวลามากกว่าจะยืนยันหาวิธีทำให้กฎหมายนี้ตกไป

“หากวุฒิสภายับยั้งกฎหมายดังกล่าว คิดว่าคนที่แสดงออกไม่ยอมรับกฎหมายนี้คงไม่เปลี่ยนใจ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้พยายามลดกระแสและรอดูจังหวะ ท่าทียังมีความพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เคยหยุด ไม่มีท่าทีจะเลิกล้มผลักดันกฎหมายนี้”

เมื่อถามว่านายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะน้อมรับมติของวุฒิสภาที่จะยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และปล่อยให้คดีต่างๆ เป็นไปตามกระบวนการ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้อ่านรายละเอียดในถ้อยคำก็ยังไม่ชัดเจน แต่พูดในทำนองว่ายอมรับสิ่งที่วุฒิสภาตัดสิน คำว่า “ยอมรับ” ก็ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร แล้วทำไม ส.ส.ไปขึ้นเวที และประกาศว่าในที่สุดจะนำกลับมา ดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร โดยรัฐบาลต้องคิดหาวิธี เพราะเป็นผู้ก่อปัญหานี้ขึ้นมา อีกทั้งคำแถลงของนายกรัฐมนตรียังอ้างอิงว่ามีการตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมาแล้ว ทั้งหมดผูกพันกับนายกรัฐมนตรี จึงควรหาทางออกให้สังคม

ส่วนการที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากกรรมการปฏิรูปนั้น เห็นว่าสภาปฏิรูปของรัฐบาลคงจะเดินต่อไปยาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นความจริงที่ฟ้องแล้วว่าการตั้งสภาปฏิรูปเพื่อลดและเบี่ยงเบนกระแส แต่ข้อเท็จจริงต้องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเดิมรัฐบาลประเมินสังคมและคนไทยผิดว่าจะสามารถใช้วิธีการหลอกล่อให้กฎหมายผ่านไปได้ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนไม่เอาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวุฒิสภาไม่รับหลักการวาระแรก รัฐบาลจะใช้เป็นเหตุผลกดดันสลายการชุมนุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบและคงต้องรอให้ถึงวันนั้น ซึ่งอยากเห็นว่าอะไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่นำกฎหมายฉบับนี้กลับมาอีก และยังมีกฎหมายลักษณะนี้อีก 6 ฉบับยังค้างอยู่ในสภา รวมทั้งคำพูดของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุว่าการชุมนุมเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่ายิ่งพูดเช่นนี้มีความรู้สึกว่า คนที่แสดงออกก็ต้องยืนยันการแสดงออกต่อไป ถ้านายกฯ คิดว่าบิดเบือนจริงทำไมไม่ผลักดันต่อ ถ้าคิดว่าเป็นของที่ดี ก็ต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมารัฐบาลบิดเบือนความจริง

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ชัดเจนว่าไม่ได้ถอยจริงหรือถอยแบบไม่สุด อาจจะแค่มาตั้งหลักหน้าปากซอย เพราะดูจากคำแถลงของนายกฯชัดเจนว่าไม่รับปากหรือให้หลักประกันว่าจะไม่เดินหน้ากฎหมายนี้อีกในอนาคต ทั้งนี้ หากจะให้สังคมไว้วางใจหรือลดความเคลือบแคลงใจนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการ 4 เรื่องเร่งด่วน คือ 1. ต้องให้สังคมมั่นใจว่าเมื่อ ส.ว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว เมื่อครบกำหนด 180 วันจะไม่มีการหยิบยกมายืนยันให้มีผลบังคับใช้และนำขึ้นทูลเกล้าฯ 2. ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระ 6 ฉบับซึ่งเจ้าของร่างเป็นคนของรัฐบาลนั้น ต้องถอนออกจากระเบียบวาระทันที โดยในการประชุมสภาฯ ในช่วงบ่ายวันนี้ (6 พ.ย.) รัฐบาลสามารถทำได้เลยหากมีความจริงใจ 3. คนในรัฐบาลที่ประกาศว่า หาก ส.ว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับใหม่เข้าสู่สภาฯ อีกนั้น ต้องมีหลักประกันว่าจะไม่มีการดำเนินการดังกล่าว และ 4. นายกรัฐมนตรีต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการลักไก่ออกเป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด

“ขณะนี้ความน่าเชื่อของรัฐบาลตกต่ำมาก ที่ผ่านมาพูดกลับไปกลับมาตลอด พยายามทำเพื่อตัวนายกฯ และครอบครัว การปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของสภาฯ นั้น แต่การแถลงท่าทีของนายกฯ เมื่อวานนี้ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลเกี่ยวข้อง เพราะถ้าไม่เกี่ยวข้องนายกฯ จะแถลงข่าวทำไม สุดท้ายนายกฯ ก็ขว้างงูไม่พ้นคอ” ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าฝ่ายค้านตีเจตนาของนายกรัฐมนตรีผิดว่าท้าทายประชาชน นายจุรินทร์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพูดอะไรฟังยากอยู่แล้ว เมื่อวานนี้สุดท้ายก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรกันแน่ การที่ไม่ประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่เดินหน้ากฎหมายนี้อีกไม่ว่าวิธีการใดๆ นั้น สะท้อนว่าสุดท้ายก็ท้าทายกระแสการต่อต้านของประชาชน สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.ส่งสัญญาณว่าถอยแต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีเงื่อนไขนั้นอาจจะถูกมองว่าเป้าหมายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ที่การล้มร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า มันไม่ใช่การถอยจริง อาจจะสับขาหลอกรอบที่ 100 ก็ได้ มาตั้งหลักที่หน้าปากซอยแล้วก็กลับเข้าซอยไปใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่การมองแง่ร้าย แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้นพูดอะไรแล้วเชื่อไม่ได้จริงๆ

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือว่าการที่ข้าราชการจะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ออกไปแสดงความเห็นนอกเขตกระทรวงหรือนอกเวลาทำงานนั้น ว่า การกระทำของปลัดกระทรวงพาณิชย์แค่ต้องการเบรกกระแสการคัดค้านกฎหมายดังกล่าวในกลุ่มข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ

“แม้เครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นคนตั้งมาเป็นปลัดฯ ก็ตาม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าท่านเป็นข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่รับใช้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีบารมีเหนือรัฐบาลแต่อย่างใด ดังนั้น ควรยุติและหยุดยั้งการกดดันไม่ให้ข้าราชการแสดงออกถึงจุดยืนในการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และอยากฝากไปยังปลัดกระทรวงอื่นๆ ว่าไม่ควรไปเบรก หรือกดดันการแสดงออกของข้าราชการในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่ควรมีการคาดโทษใดๆ เพราะการแสดงออกว่าอะไรถูกต้องอะไรผิดนั้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนในทุกอาชีพ”

นายองอาจกล่าวอีกว่า ตนกังวลว่าข้าราชการกระทรวงพาณิชย์จะได้รับผลกระทบจากการแสดงออกครั้งนี้ เพราะใกล้จะถึงฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงแล้ว ดังนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์จะมีการติดตามว่าข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดที่ออกมาแสดงออกในครั้งนี้จะได้รับผลกระทบอย่างไร และหากใครได้รับผลกระทบก็ขอให้แจ้งมายังพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะช่วยเป็นปากเสียงในการต่อสู้เพื่อจุดยืนต่อไป



อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น