วุฒิสภา เตรียมประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวันนี้ ในเวลา 14.00 น. 40 ส.ว. ยันไม่เข้าร่วมประชุมอย่างแน่นอน แต่จะเข้าประชุมตามมติของวิปวุฒิฯ ในวันที่ 11 พ.ย. แทน ส.ว.“ไพบูลย์” เชื่อการประชุมวันนี้จะมีประท้วงวุ่นวาย เหตุ ปธ.วุฒิฯรับใบสั่งรัฐบาลทำวุฒิสภากลายเป็นสภาทาส เชื่อวุฒิสภาจะมีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังหนีตายจากแรงต้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นการยกระดับไล่รัฐบาลไปแล้ว
วันนี้ (8 พ.ย.) มีการประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ โดยมีวาระการพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 โดยวันนี้จะเป็นการพิจารณาในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่ง นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในเวลา 14.00 น.
สำหรับแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ หากที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการก็ต้องส่งเรื่องกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และต้องพักไว้ 180 วัน ก่อนที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลยืนยันหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบแล้ว รัฐบาลก็จะปล่อยให้กฎหมายดังกล่าวตกไป แต่ทั้งนี้ หากที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบก็จะตั้งกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อแปรญัตติเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ก่อนที่จะส่งเรื่องคืนกลับสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้คัดค้านในการประชุมวันนี้ เนื่องจากมติของวิปวุฒิสภาได้กำหนดให้นัดประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ดังนั้น จึงมี ส.ว. หลายคนประกาศที่จะไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เปิดเผยถึงกรณีการเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นวันนี้ว่า กลุ่ม 40 ส.ว. จะไม่เข้าร่วมประชุมอย่างแน่นอน จะประท้วง และคัดค้านอย่างรุนแรง แต่จะเข้าร่วมในวันที่ 11 พ.ย. ตามกำหนดการเดิม ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้มีปัญหาในระเบียบข้อบังคับเรื่ององค์ประชุม และประธานต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะรับใบสั่งจากรัฐบาลให้เร่งรัดพิจารณา อีกทั้งจะทำให้วุฒิสภากลายเป็นสภาทาส และจะมีกระแสคัดค้านจาก ส.ว. อย่างรุนแรง เพราะเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงของศักดิ์ศรีของวฺฒิสภา ซึ่งเป็นสภาสูง ก็ได้มีการเตือนไปแล้วว่า อย่าทำลักษณะเช่นนี้อีก เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมได้ เพราะรัฐบาลกำลังหนีตาย โดยพยายามถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ และปรองดอง ทุกฉบับออก และต้องการลดกระแสคัดค้านให้การชุมนุมลดระดับลงเพื่อการอยู่รอด
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ฟังเสียงประชาชนคงจะไม่หยุดชุมนุมต่อต้าน เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลต้องยื่นกฎหมายเข้ามาอีกแน่นอน
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ระบุว่า กลุ่ม 40 ส.ว.จะไม่เข้าร่วมประชุม เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการไม่ถูกต้อง ที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ใช้อำนาจประธานวุฒิสภา เปลี่ยนแปลงให้เป็นความต้องการที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองให้รัฐบาล โดยเฉพาะความพยายามของสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่ง ที่จะใช้วิธีผ่าน 3 วาระรวด เพื่อกลับไปใช้ร่างเดิมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายองค์กรวุฒิสภาทั้งสิ้น