xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” งดไปพม่าเกาะติดม็อบต้านนิรโทษกรรม ยันรัฐบาลไม่ใช้ทหารปราบผู้ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทรฮโอชา (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” งดเดินทางประชุม ผบ.ทบ.อาเซียนที่พม่า เกาะติดสถานการณ์ผู้ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยัน “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ไม่ใช้ทหารปราบม็อบ แค่ห่วงมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ ฝ่ายความมั่นคงหวังนายกฯ แถลงถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วสถานการณ์การต่อต้านน่าจะลดความร้อนแรงลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยกเลิกภารกิจเดินทางไปร่วมงานการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธี กองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 23 และการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าในระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. 56 อย่างกะทันหัน โดยมอบหมายให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เดินทางไปร่วมงานแทน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์มีความเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงต้องการอยู่ติดตามสถานการณ์ในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในการประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวันในช่วงเช้าที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้มีการกำชับให้กำลังพลจับตาสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยตลอดทั้งวัน พล.อ.ประยุทธ์ได้นั่งทำงานจับตาสถานการณ์ผ่านจอทีวีมอนิเตอร์ภายในกองทัพบก ทั้งนี้ ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทางเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร (สห.) และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยพร้อมสุนัขทหารได้มีการตรวจรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด โดยมีการใช้กุญแจล็อกปิดประตูด้านหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทะลักเข้ามาภายในกองทัพบก ทั้งนี้ยังมีการสั่งห้ามไม่ให้ทหาร และสื่อมวลชนเข้าไปใกล้บริเวณรั้วด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพราะเกรงว่าจะเป็นการให้ความสนใจกลุ่มผู้ชุมนุมและอาจเป็นการยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความวุ่นวายได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ย. ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานในการประชุมนั้น เป็นการประชุมประเมินสถานการณ์การชุมนุม เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบตามปกติ โดยทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานสถานการณ์การชุมนุม และยอดผู้ชุมนุมให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนายกฯ ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวลต่อสถานการณ์ แต่รู้สึกเป็นห่วงว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย และขณะนี้นายกฯ ยังไม่มีคำสั่งที่จะให้ทหารออกมาดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทหาร และไม่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของทหาร

ทั้งนี้ ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงเชื่อมั่นว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมีการแถลงถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากหยุดเคลื่อนไหว เพราะมองว่า สาเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาชุมนุม เพียงเพราะต้องการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการถอนร่าง พ.ร.บ.จึงน่าจะทำให้สถานการณ์การชุมนุมเบาบางลง เหลือเพียงผู้ชุมนุมกลุ่มเดิมที่มีเจตนารมณ์ต้องการขับไล่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงมองว่า มีจำนวนไม่มากเท่าไร
กำลังโหลดความคิดเห็น