กมธ.นิรโทษกรรม ยันอีกรอบร่างนิรโทษกรรมสุดซอยไม่เข้าข่ายกฎหมายการเงิน ท้าฝ่ายค้านให้ประธานรัฐสภา-ปธ.กมธ.35 คณะชี้ขาด เย้ยศาลรัฐธรรมนูยไม่มีอำนาจ
วันนี้ (25 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 142, 143 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินที่ ส.ส.เสนอ แต่สาระสำคัญในเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้แก้ไขมาตรา 3 ไม่เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะเกี่ยวกับการเงิน เพราะในเนื้อหาไม่มีข้อความใดที่ปรากฏว่ากำหนดให้จัดสรร หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือโอนงบประมาณแผ่นดิน ตามมาตรา 143(2) ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง และร่างนี้ไม่ได้ระบุจำนวนเงินว่า ต้องคืนให้กับใครเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งข้ออ้างฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 143(3) เรื่องการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐน่าจะหมายถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพย์สินต่างๆ ขององค์กร หน่วยงานของรัฐ แต่มิใช่รูปแบบเงินแผ่นดิน ที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน หรือเงินแผ่นดินตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 143(2) บัญญัติไว้
นายพิชิต กล่าวต่อว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 143(3) ระบุว่า “การดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ” น่าจะหมายถึงการจัดทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์สินของรัฐเท่านั้น แต่การทำร่างกฎหมาย หรือตรากฎหมาย มิใช่จัดทำนิติกรรม ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีมาตราใดบัญญัติให้จัดสรร หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือโอนงบประมาณแผ่นดินให้ใคร ดังนั้นจึงไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน อย่างไรก็ตามหากฝ่ายค้านติดใจว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว มีลักษณะเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินหรือไม่นั้น ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 มาตรา144 ให้อำนาจประธานรัฐสภา และประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ เป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวล่วงตรวจสอบว่าร่างกฎหมายใดเกี่ยวกับการเงินหรือไม่อีก