ประชุม กมธ.นิรโทษกรรม ฝ่ายค้านโวยแหลกเร่งรีบเสนอคำแปรญัตติ ปิดปากเสียงข้างน้อย “เหวง” ยันร่างเดิม “วรชัย” ด้านซีกฝ่ายค้านชี้ยกเลิกความผิด “ทักษิณ” จากคดี คตส.แน่ มาตรา 5 ใส่ไปก็ไร้ประโยชน์ ติงควรนิรโทษฯ เฉพาะผู้ชุมนุมไม่รวมผู้ต้องหาคดีอาญา หวั่นเปิดช่องมาตรา 3 ประเทศเสียหาย คาดสรุปส่งคำแปรญัตติได้ 25 ต.ค.นี้
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
ขณะที่กรรมาธิการฝ่ายค้าน ได้สอบถามถึงสาเหตุที่เลื่อนการแปรญัตติมาเป็นวันที่ 24 ต.ค.เนื่องจากที่ประชุมได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าให้สมาชิกที่ขอแปรญัตติได้มาเสนอคำแปรญัตติต่อกรรมาธิการในวันที่ 30-31 ต.ค.พร้อมทั้งสอบถามถึงการเร่งรีบไม่ให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น และชี้แจงในการแปรญัตติ แต่ประธานกรรมาธิการ ยืนยันว่าสิ่งที่กรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันไม่ได้มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า แต่ทำทุกอย่างไปตามข้อบังคับการประชุม ไม่ได้มีเจตนาจะปิดปาก หรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของใคร และไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องนี้
หลังถกเถียงนานกว่า 1 ชั่วโมง ประธานคณะกรรมาธิการจึงเปิดโอกาสให้ผู้ขอแปรญัตติรวม 163 สำนวน อภิปรายเสนอความเห็น โดยผู้เสนอความเห็นคนแรกคือนายแพทย์เหวง โตจิราการ ในฐานะกรรมาธิการ ยืนยันตามร่างฉบับที่ นายวรชัย เหมะ กรรมาธิการ เป็นผู้เสนอ เพราะเชื่อว่าการนิรโทษแบบเหมารวมจะเปิดช่องให้ผู้สั่งฆ่าประชาชนกระทำการอย่างซ้ำซากและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่ขอให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขด้านเวลาเล็กน้อยหลัง พ.ร.บ.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.ในฐานะคณะกรรมาธิการ แสดงความกังวลว่าหากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีผลทำให้ยกเลิกความผิดที่เกิดขึ้นจากการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.เป็นผลให้คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่เสนอข้อญัตติจากที่ประชุมในมาตรา 5 ว่าด้วยการระงับสิทธิ์ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะไม่สามารถดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ จากรัฐได้ ซึ่งนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เห็นว่าการเขียนในลักษณะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ตามที่เรียกร้อง
ส่วนผู้ที่เสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ส.ส. ฝ่ายค้านส่วนใหญ่เสนอคำแปรญัตติในมาตรา 3 ว่า “ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” และมาตรา 5 ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ควรนิรโทษให้กับผู้กระทำความผิดทางอาญา
นอกจากนี้ ยังกังวลว่าการเพิ่มเติมในส่วนของมาตรา 3 ที่ขยายกลุ่มบุคคลในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือ ผู้ถูกใช้ หากการกระทำความผิดต่อกฎหมายให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิด และไม่ต้องรับผิดโดยสิ้นเชิง ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อาจทำให้ประเทศเสียหาย รวมถึงการเพิ่มนิรโทษกรรมในคดีคอร์รัปชัน ที่ คตส.กล่าวหา เชื่อว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ สำหรับการแปรญัตติมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ จำนวน 163 คน โดยคาดว่าจะสามารถสรุปความเห็นเสนอคำแปรญัตติได้ภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ก่อนส่งให้ประธานรัฐสภานำร่างบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป