นายกฯ และ รมว.กห.นั่งหัวโต๊ะ ถก ครม.ย่อยดู พ.ร.บ.มั่นคง “ภราดร” เผยมติต่ออายุอีกยาว 19 ต.ค.-30 พ.ย.อ้างรักษาความสงบ บอกมีเหตุกระทบความมั่นคงจนถึงประชุมรัฐสภา เชื่อมศาลโลกพิพากษาพระวิหาร ยันไม่มีแนวคิดสลายม็อบอุรุพงษ์ สั่งแจงทูตในไทย แย้มพบท่อน้ำเลี้ยงแต่รอหลักฐานชัด หยันพวกค้านหน้าเดิม ยกชาวบ้านเริ่มเดือดร้อนปิดถนน
วันนี้ (18 ต.ค.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 3 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่จะหมดลงในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ภายหลังจากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยังปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ต่อมาเวลา 13.30 น.พล.ท.ภราดร แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ มีมติให้ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 3 เขต 8 แขวง และยังคงกำลังเจ้าหน้าที่ไว้คงเดิม ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.-30 พ.ย.56 เนื่องจากจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะยังปรากฏเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงการประชุมรัฐสภา จึงต้องมีความระมัดระวังที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อย ประกอบกับกฎหมายปกติที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ไม่สามารถจะบูรณาการการแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายพิเศษ ขณะเดียวกัน การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกจะมีคำพิพากษาในคดีเขาพระวิหารวันที่ 11 พ.ย.นี้ ยังความสัมพันธ์และต่อเนื่องกับเหตุการณ์ในรัฐสภา มีการสื่อจากเวทีชุมนุมต่างๆ ว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องนำมาเชื่อมโยงกัน ตรงนี้ชัดเจนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการกลับเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาลอีกรอบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันที่ 30 พ.ย.หากสถานการณ์ดีขึ้นสามารถประกาศยกเลิกได้ตลอด โดยศอ.รส.จะมีการประเมินอยู่ตลอดเวลา และได้มีการประสานกับกทม.อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลผู้ชุมนุม แต่ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดในการสลายการชุมนุม มีเพียงการป้องกันเป็นหลัก
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกฯเองสั่งให้มีความรอบคอบในการใช้และปฏิบัติกฎหมาย โดยใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรม เพราะสาเหตุที่รักษาความสงบเรียบร้อยมาได้จนถึงตรงนี้ได้เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง รวมทั้งจะให้ ศอ.รส.ดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตลอดจนทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ขณะนี้ยังได้มีการเตรียมการชี้แจงกับต่างชาติถึงกรณีที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเป็นระยะเวลายาวอย่างนี้อีกด้วยโดยการชี้แจงจะเป็น ศอ.รส.และกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะมีการชี้แจงกับทูตของแต่ละประเทศที่อยู่ในประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมในครั้งนี้มีท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การชุมนุมที่ยืดเยื้อได้ต้องมีการสนับสนุนอยู่ข้างหลังอยู่แล้ว ในแง่การข่าวมีความชัดเจนเกี่ยวกับผู้สนับสนุนอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การดำเนินการทางกฎหมายจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน และขณะนี้มีกลุ่มเคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 65 กลุ่ม เราต้องเฝ้าระวัง เมื่อถามว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเป็นไปในลักษณะพรรคการเมืองหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า หากเราเห็นความสืบเนื่องกัน ในการคัดค้านเห็นต่างจากรัฐบาลจะเห็นว่าเป็นกลุ่มเดิมๆ โดยพยายามดึงกลุ่มแนวร่วมเข้ามาเพื่อทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อยิ่งขึ้น แต่ภาพของกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่สถานการณ์ต่างๆ มีความสัมพันธ์กันทั้งในและนอกสภา
เมื่อถามว่า หากผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ต้องปฏิบัติตามแผน ตามขั้นตอน โดยเริ่มจากการพูดคุย และหากเมื่อจำเป็นจึงจะใช้กำลัง ส่วนผู้ชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการพูดคุยเจรจาแจ้งเหตุผลต่างๆ ให้ผู้ชุมนุมได้เข้าใจ เพราะมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ