xs
xsm
sm
md
lg

สมช.บี้บีอาร์เอ็นแจงกลุ่มไหนป่วนใต้ไม่หยุด เชื่อคุมโจรไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.ต.สุรชาติ  จิตต์แจ้ง (แฟ้มภาพ)
สมช.เข้มจี้บีอาร์เอ็นตอบกลุ่มไหนป่วนใต้ไม่หยุด เชื่อคุมโจรไม่ได้ รอดูตัวจริง ตัวปลอม วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ 25 ต.ค.เผยมีอีก 4 กลุ่ม เข้าร่วมกับบีอาร์เอ็น ด้าน กอ.รมน.ตั้ง ศปก.อำเภอ ช่วยขับเคลื่อนแก้ใต้ ชี้ก่อเหตุบึ้มฆ่าเจ้าหน้าที่ ประชาชนหวังต่อรองรัฐบาล ขณะที่ กรมคุ้มครองสิทธิ์โชว์ตัวเลขเยียวยาเหยื่อไฟใต้รายละ 1 แสน พร้อมจ่ายพระเดือนละ 2.5 พันบาท

พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการก่อเหตุความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการพูดคุยสันติภาพร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรใหญ่ต้องไปหาคำตอบให้ได้ว่า กลุ่มใดเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุ เพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่สามารถกำกับดูแลให้กลุ่มที่เห็นต่างก่อเหตุในพื้นที่ได้ เราจึงส่งคำถามนี้ไปยังกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก เพื่อให้เขาทำการบ้าน และหาคำตอบว่า เหตุใดทั้งที่มีการพูดคุยกันอยู่ยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ขึ้น ซึ่งตั้งแต่เราส่งคำถามไป ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ตอบกลับมา ซึ่งขณะนี้ต้องเลื่อนการพูดคุยออกไป เพราะทางกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ตอบคำถามของเรา

ส่วนข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่ถามมา เรามีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า จะตอบในระดับไหน ส่วนการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอทั้ง 38 หน้านั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง และกำลังส่งข้อมูลไปยัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) เพื่อรอท่านเรียกประชุมศปก.กปต.ต่อไป เพื่อให้ได้คำตอบในการพูดคุย

พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่จะครบรอบเหตุการณ์ตากใบนั้น เราจะต้องการมีการประมวลสถานการณ์ด้วยว่า จะเกื้อกูลต่อการพูดคุยหรือไม่ เพราะหากมีการพูดคุยแล้วยังเกิดเหตุรุนแรงจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อกัน ซึ่งหากพูดคุยแล้วยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่แสดงว่า เขาไม่ใช่ตัวจริง ทั้งนี้เหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่และมีผลกระทบต่อการพูดคุยต่อไปหรือไม่นั้น เราไม่ได้สนใจว่า จะมีเหตุการณ์อะไรหรือไม่ เพราะเหตุการณ์วันดังกล่าวเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง ขณะนี้เราเพียงแต่เฝ้ารวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วรอพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุม ถ้าผลประชุมสามารถตกผลึกได้ก็รอการพูดคุยครั้งต่อไป

ส่วนกรณีที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะเปลี่ยนแปลงบุคคลใดเพิ่มเติมเข้ามาในทีมคณะพูดคุยก็สามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้ เป็นเสรีของกลุ่มเขา เราไม่ว่า กัน เพราะตามข้อตกลงแต่ละฝ่ายจะมีตัวแทนฝ่ายละ 15 คน ทั้งนี้ตนยังหวังว่า การพูดคุยยังมีต่อไป เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้ มิเช่นนั้นเราคงไม่พูดคุยด้วย

แหล่งข่าวทางทหาร ระบุว่า ทางการไทยจะยังไม่ขอกำหนดเวลานัดหมายการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป แม้จะผ่านวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ วันสถาปนากลุ่มพูโลใหม่ 20 ตุลาคม และครบรอบเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคมนี้ โดยบีอาร์เอ็นยังยืนยันรายชื่อตัวแทนในเบื้องต้นผ่านผู้อำนวยความสะดวก 15 คน มีนายฮัดซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะ องค์ประกอบผู้เข้าร่วม ได้แก่ บีอาร์เอ็น 4 คน จีเอ็มพี 1 คน บีไอพีพี 1 คน พูโลใหม่กลุ่มนาย กัสตูรี่ มะโกตา 1 คน และกลุ่มนาย ลุกมาน บินลีมา 1 คน อีก7 คนที่เหลือเป็นตัวแทนสื่อ ตัวแทนองค์การชุมชน เป็นต้น

ด้าน พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.ต.สุรชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ในโอกาสต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่ผ่านมา ทางเราไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ก่อเหตุรุนแรงจึงเลือกใช้วิธีสร้างความเดือดร้อน และความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งการต่อรอง ปัจจุบันนโยบายพาคนกลับบ้านที่เปิดโอกาสให้คนที่หลงผิดที่เข้าร่วมกับผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงเข้ามารายงานตัว นับว่ามีความก้าวหน้าที่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยึดถือการเปิดพื้นที่การพูดคุยกับผู้เห็นต่างกับรัฐ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้สังหารผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เข้ามามอบตัวนั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และไม่มีมูลเหตุเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไปสร้างเงื่อนไข ส่วนการพูดคุยสันติภาพ หากเราสังเกตสภาพแวดล้อมในปัจจุบันน่าจะเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่เอื้ออำนวยให้มีการพูดคุยในเร็วๆ นี้

ขณะที่ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า การบูรณาการ และการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ปฎิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนแผนงานในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายให้นายอำเภอ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ 3 ฝ่าย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ซึ่งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผบ.ฉก. หมายเลข ผกก.สภ. และผู้แทนส่วนราชการทุกฝ่ายในพื้นที่ซึ่งมาปฎิบัติงานร่วมกัน นอกจากนี้ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดชุดประสานงานประจำกระทรวง ทั้ง 17 กระทรวง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่าภูมิภาค และส่วนกลาง รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในคดีอาญา พ.ศ.2544 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้เสียหายในคดีอาญาที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ และผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ผู้ที่เสียชีวิตจะได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 1 แสนบาท ค่าอุปการะเลี้ยงดู 3 หมื่นบาท ค่าทำศพ 2 หมื่นบาท กลุ่มที่ 2 คือจำเลยตามคดีอาญา ที่ต้องถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และปรากฎหลักฐานชัดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิดแ โดยได้รับค่าชดเชยเยียวยาวันละ200บาท รวมแล้วปีละประมาณ 1 แสนบาท ทั้งนี้สถิติการยื่นคำขอรับการเยียวยาในปีงบประมาณ 2556 แบ่งเป็นคดีเหตุการณ์รุนแรง 1,141 ราย จำเลย 136 ราย คดีทั่วไป 117ราย รวมทั้งสิ้น 1,394 ราย

นางจันทนา สุทธิเรืองวงศ์ ผู้ตรวจการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา ทางสำนักพระพุทธศาสนา ได้จัดประชุมสัมนารับฟังปัญหาและความคิดเห็นของคณะสงฆ์ในพื้นที่ เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ในปี 2558 พร้อมทั้งสนับสนุนเงินอุดหนุนพิเศษถวายพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จำนวน 2.5 พันบาทต่อรูปต่อเดือน โดยหลักเกณฑ์คือต้องอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 เดือน จัดงบประมาณสนับสนุนการส่งเสริม เผยแพร่คุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน จัดธรรมทูตในการลงไปให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรไปดูงานและนมัสการสังเวชนียสถาน ที่สาธารณรัฐอินเดีย และเนปาล อีกทั้งสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในพื้นที่ ร่วมกับ ศอ.บต.เยียวยาพระภิกษุ สามเณรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการรุนแรง หากมรณภาพครอบครัวจะได้รับเงินในการบำเพ็ญกุศล 1 แสนบาท บาดเจ็บได้รับ 5 หมื่นบาท

นายสมศักดิ์ จังตระกูล ที่ปรึกษาด้านความมั่งคง ในฐานะผู้แทนของกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ รมว.มหาดไทย ตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นจุดการเกิดเหตุร้ายซ้ำซาก และเร่งกำหนดแผนงานให้ชัดเจนเพื่อเกิดความปลอดภัย ทางกระทรวงมหาดไทยจึงจัดทำโครงการและแผนงานการปรับปรุงขยายถนนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เป็นถนนปลอดภัยในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีการปรับปรุงถนน ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าส่องสว่างและถางหญ้า รวมจำนวนทั้งสิ้น 163 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งหมด 32 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น