รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ยอมรับเลื่อนพูดคุยบีอาร์เอ็น ตามข้อเสนอฝ่ายความมั่นคง ยันพร้อมคุยทุกกลุ่ม ไม่ห่วงมาเลย์ประสานเจรจาจะมีบทสรุปเหมือนมินดาเนา ฟิลิปปินส์ ที่สุดท้ายได้แยกตัวเป็นอิสระ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการเลื่อนการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็นว่า เรื่องนี้ต้องให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประเมินสถานการณ์ก่อน เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ระบุว่าต้องเลื่อนการพูดคุยออกไปก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องรับฟังในฐานะฝ่ายความมั่นคง และอีกหลายหน่วยงานที่ต้องฟังความคิดเห็น ส่วนเงื่อนไข 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ในฝ่ายไทยมีอยู่บ้างแล้ว แต่บางประเด็นต้องหารือเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของ กอ.รมน.สมช. สตช.และ ศอ.บต.ต้องหารือกันก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าที่บีอาร์เอ็นต้องการขยายกลุ่มพูดคุยเพิ่มขึ้น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เป็นประเด็นการพูดคุยที่ต้องมีหลายกลุ่มเข้ามาร่วมกัน หมายความว่าในส่วนของกลุ่มย่อยต้องมีการประสานกัน เช่น บีอาร์เอ็นจะต้องเป็นแกนในการเชื่อมกับกลุ่มพูโลใหม่ กลุ่มเบอร์ซาตูบ้าง เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการพูดคุยกับแกนนำที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นพัฒนาการเป็นขั้นตอนขึ้นไปซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ถึงวันนี้เป็นการพูดคุยระหว่างฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้นที่มีการประสานงานกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่กลุ่มที่ก่อเหตุคือฝ่ายอาร์เคเค ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมได้ ฝ่ายไทยมีแนวคิดที่จะพูดคุยด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ต้องรอให้สถานการณ์ถึงจุดดังกล่าวก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างที่เรากำลังพูดคุยกับบีอาร์เอ็น โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ต่อข้อถามว่ามีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มาเลเซียเคยช่วยเจรจากรณีเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ แต่สุดท้ายมินดาเนาก็แยกออกมาเป็นรัฐอิสระ จึงเกิดข้อเปรียบเทียบกับกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า “อย่าโยงไปไกลถึงขนาดนั้น เรื่องมินดาเนาเป็นสถานการณ์ของต่างประเทศ เดี๋ยวจะกลายเป็นการไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือก้าวก่ายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในเรื่องของความเห็นต่างนั้น ตราบใดที่ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ความขัดแย้งก็ต้องมี ซึ่งเราต้องยอมรับ เมื่อมีความขัดแย้งเหตุการณ์ต่างๆ ก็ต้องเกิด เราก็พยายามทำความเข้าใจ การเจรจาการพูดคุยถ้าสามารถจบลงบนโต๊ะได้ก็เป็นเรื่องดีที่สุด เพื่อนำความเห็นต่างมาใกล้ชิดกันมากที่สุดเพื่อให้เกิดความใกล้เคียงให้มากที่สุดในส่วนของเป้าหมาย”