xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ สมช.รับจับตา 56 องค์กร ผนึกกำลัง ม.รังสิต 13 ต.ค.สั่งผู้ว่าฯ-ตร.สกัดมวลชนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (แฟ้มภาพ)
“ภราดร” รับผวา กปท.ผนึก พันธมิตรฯ ม็อบสวนยางชะอวด ล่มรัฐบาล หลังเช็กข่าวพบยังไม่มีการเคลื่อนไหว หันจับตา 56 องค์กร รวมตัว ม.รังสิต 13 ต.ค.นี้ ประสานตำรวจ-ผู้ว่าฯ สกัดมวลชนเข้าร่วมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โวรับมือ กปท.ได้ แต่ไม่ประมาท อ้างประชาชนเริ่มบ่นปิดถนนทำเดือดร้อน ย้ำใช้เจรจายังไม่พึ่งกฎหมายพิเศษ มั่นใจรัฐบาลไม่มีเงื่อนไขให้ล้มรัฐบาลได้

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลว่า ตอนนี้สถานการณ์ยังอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ไม่ประมาทและระมัดระวัง เพราะผู้ชุมนุมที่เดือดร้อนจริงๆ ที่มา รัฐบาลก็เคลียร์ด้วยการพูดคุยกันเรียบร้อยแล้วชัดเจน ก็ทยอยกลับก็จะเหลือเพียงกลุ่มเดียว คือ กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ตอนนี้ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัด และผู้นำประเทศจีนกำลังจะเดินทางมาประเทศไทย ทั้งนี้ในเรื่องของการจราจร เริ่มมีประชาชนบ่นถึงความเดือดร้อน ซึ่งทาง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กำลังจัดการอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้รายงานให้ทราบหรือไม่ว่า จะมีการประสานกับแกนนำผู้ชุมนุมทางภาคใต้ให้ขึ้นมาสมทบ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดแล้วว่ายังไม่มีการเคลื่อนตัว ตอนแรกเราก็ดูว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ระหว่างกลุ่มที่ กปท.ที่สวนลุมพินี กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และท่าพระอาทิตย์ และผู้ชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางที่ อ.ชะอวด จว.นครศรีธรรมราช เมื่อได้พูดคุยกันแล้วทราบมาว่ายังไม่มีการขับเคลื่อนมารวมกัน

“แต่ต้องคอยจับตาดูประมาณวันที่ 13 ต.ค.ที่จะมี 56 องค์กร ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ต้องดูด้วยว่าจะมีความสัมพันธ์กับตรงนี้หรือไม่ ทั้งนี้เบื้องต้นผู้ชุมนุมมีความระมัดระวัง เพราะมีบทเรียนการชุมนุมจากอดีต และคาราคาซังจากคดีอยู่ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวตรงนี้ เดี๋ยวเกิดมีการไปร้องศาล หากศาลถอนหมายประกันตัวก็จะเป็นปัญหาอีก เช่น กรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ก็ยังระวังตัว เขาคงไม่ห้ามคนอื่น แต่ไม่ขอยุ่งเกี่ยว เพราะยังมีหมายศาล อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเจรจากับกลุ่ม กปท.แต่เขาไม่ยอมไป เราก็ยังต้องพยายามกันต่อไปก่อน และดูทุกอย่างว่า ณ ตอนนี้เขาเกินความสมควรหรือยัง เช่น ทำให้การจราจรติดขัดมากเกินไป มีผลกระทบต่อการใช้ทางสาธารณะ เราก็จะดูไปโดยใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก แต่สถานการณ์ตอนนี้การประเมินไปถึงตรงนั้น ก็ยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้กฎหมายพิเศษ ยังใช้กฎหมายธรรมดาได้”

ผู้สื่อข่ายถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่ม กปท.เปลี่ยนยุทธวิธีในการเคลื่อนมายังทำเนียบ โดยที่รัฐบาลยังไม่ทันตั้งตัว พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเขาเราพอทราบก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นแม้ไม่กังวลใจ แต่ก็ไม่ประมาทเพราะยังไม่รู้ว่า เขาจะจูงใจมวลชนมาได้มากน้อยแค่ไหน แต่เราขอสื่อกลับไปว่า ประชาชนต้องฟังหูไว้หูให้ดีๆ ต้องตั้งสติให้ดีๆ ว่าการที่จะมาร่วมนั้น เป็นเงื่อนไขอะไร อย่างไรเพียงพอหรือไม่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะดำเนินการอะไรกับรัฐบาล และรัฐบาลก็ยังทำงานตามปกติได้อยู่ ถ้าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันก็ต้องชัดเจน และมีกลไกขององค์กรอิสระที่พร้อมจะดำเนินการกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ต้องไปกังวลใจ แต่ต้องฟังอย่างมีเหตุผล

ส่วนที่ กลุ่ม กปท.ระบุถึงวันที่ 8 ต.ค.ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดถึงหรือไม่ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ก็คงเป็นความเชื่อของเขา และสถานการณ์ที่ผ่านมา มีสิ่งเหล่านี้สะสมและคิดว่าจะมาบรรจบกัน แต่ระหว่างที่มานั้นกระบวนการต่างๆ เหล่านั้นไม่มาตามที่ควรจะเป็น ก็เลยทำให้เงื่อนไขเหล่านี้หมดไป แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่เชื่ออยู่

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการป้องกันกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่ไม่ให้เข้ามาร่วมชุมนุม พล.ท.ภราดร กล่าวว่า มีการสื่อสารทางการข่าวตลอดเวลา ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เราเกรงว่าจะมีมวลชนมารวมกัน แต่ไม่ถึงกับสกัด โดยต้องมีการทำความเข้าใจกันก่อน เพราะเราเคารพการเคลื่อนไหวตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านั้น พล.ท.ภราดร เป็นตัวแทนเข้ารับหนังสือ จาก นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรม สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย และองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ที่มาร่วมชุมนุม ประมาณ 70 คน เพื่อทวงถามรัฐบาลถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาในฉบับที่ 98 ที่ว่าด้วยการร่วมตัวและการร่วมเจราจาต่อรอง พ.ศ.2492

ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานฯขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะนำเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วภายในเดือน ต.ค.และจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ใช้แรงงานติดตามผลการดำเนินการเพื่อผลักดันการใช้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันโดยรัฐบาลต้องมีการกำหนดกรอบระยะเวลากระบวนการที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจนภายในวันที่ 1 พ.ย.57


กำลังโหลดความคิดเห็น