ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กังขาบทกวี “เบี้ย” กวีเสื้อแดงชนะเลิศพานแว่นฟ้า คว้า 1 แสนไปครอง เหตุเยิ่นเย้อเกินกว่ากติกา 12 บท “วาด รวี” หนึ่งในกรรมการเหน็บ อยากคลั่งฉันทลักษณ์ก็เดินตามตูด “เนาวรัตน์” รอเป็นกวีรัตนโกสินทร์ชาติหน้า “สมศักดิ์ เจียมฯ” อัดกลับ ไม่แฟร์สำหรับคนเขียนตามกติกา จี้ยกเลิกการตัดสิน “บัณรส” ซัดแจกรางวัลไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยที่สุด
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา แถลงชี้แจงกรณีบทกวีเรื่อง “เบี้ย” ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลชนะเลิศ ระบุว่า
ต่อกรณีการตั้งคำถามว่า เหตุใดบทกวีเรื่อง “เบี้ย” ซึ่งมี 14 บทกับอีก 2 วรรค จึงสามารถผ่านเข้ารอบ และได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยที่ คุณสมบัติ ข้อปฏิบัติ และเงื่อนไขการประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี ระบุไว้ในข้อ 7.2 ว่า “หากเป็นฉันทลักษณ์แบบแผน ขนาดความยาว 6-12 บท พิมพ์ลงในกระดาษ เอ 4 .... หรือเป็นบทกวีรูปแบบอื่น (กลอนเปล่าหรือรูปแบบคำประพันธ์ที่สร้างขึ้นใหม่) พิมพ์ลงในกระดาษเอ 4 จำนวนไม่เกิน 2 หน้า...” ขอเรียนชี้แจงเหตุการณ์ ความเป็นมา และการพิจารณา ดังนี้
ประการแรก ในเบื้องต้น คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งมาโดยมีภารกิจคือ วางโครงสร้างการยกระดับการประกวดวรรณกรรมของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดตั้งรางวัลวรรณกรรมระดับชาติ และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีกรณีต้องพิจารณาคือ การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ประจำปี 2556 ซึ่งไม่มีผู้ดำเนินการ เนื่องจากการยุบเลิก คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ปี 2556 ทางรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา จึงต้องพิจารณาว่า จะยกเลิกการประกวดดังกล่าว หรือรับดำเนินการต่อจนเสร็จสิ้น ที่ประชุมพิจารณาและมีมติให้ดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้น คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาจึงมีภารกิจต้องดำเนินการจัดประกวดต่อ ไปพร้อมๆ กับการวางโครงสร้างรางวัลใหม่
ประการต่อมา ในการพิจารณาดำเนินการต่อนี้ กรรมการหลายท่านไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดของบทกวี ที่ระบุให้ บทกวีฉันทลักษณ์ มีความยาว 6-12 บท ในขณะที่กลอนเปล่ามีความยาวไม่เกิน 2 หน้า จึงได้มีการพิจารณากันว่า จะเปลี่ยนข้อกำหนดหรือไม่ ที่ประชุมเห็นว่า การประกาศเปลี่ยนข้อกำหนดจะทำให้เกิดความล่าช้ายุ่งยาก อีกทั้งคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภายังมีภารกิจหลักคือการวางโครงสร้างและจัดตั้งรางวัลใหม่ จึงเห็นว่าให้ใช้ข้อกำหนดเดิมโดยอนุโลม และให้เป็นดุลพินิจของกรรมการกลั่นกรองแต่ละชุดว่าจะอนุโลมแค่ไหนเพียงใด
คณะอนุกรรมการกลั่นกรองบทกวี จึงเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการอนุโลมให้บทกวีเรื่องเบี้ย ผ่านเข้ารอบ
เมื่อถึงชั้นอนุกรรมการคัดเลือกที่ต้องตัดสินเรื่องที่เข้ารอบสุดท้าย shortlist คณะกรรมการก็ตัดสินโดยพิจารณาบทกวีทุกบทอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้นำกรณีที่ผิดข้อกำหนดขึ้นมาพิจารณา และเนื่องจากบทกวีเรื่องเบี้ยมีเสียงก้ำกึ่งกับบทกวีอีก 2 ชิ้น คณะอนุกรรมการคัดเลือก ซึ่งโดยประเพณีจะต้องเสนอเรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศให้กับที่ประชุมใหญ่ด้วย จึงเสนอบทกวีทั้ง 3 ชิ้น ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
ในการพิจารณาบทกวีทั้ง 3 ชิ้นของที่ประชุมคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ได้มีผู้ยกประเด็นเรื่องการผิดข้อกำหนดในเรื่องจำนวนบท ควบคู่กับการผิดฉันทลักษณ์ ขึ้นมาให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นว่า ในเมื่อให้สิทธิ์ในการอนุโลมต่อกรรมการกลั่นกรองไปแล้ว ย่อมเป็นดุลพินิจของกรรมการกลั่นกรองที่จะพิจารณา และจะไม่นำประเด็นผิดข้อกำหนดเข้ามาพิจารณาอีก ส่วนประเด็นผิดฉันทลักษณ์ ที่ประชุมเห็นว่า บทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่ไม่เคร่งฉันทลักษณ์แบบแผน ในทำนองเดียวกับวรรณกรรมมุขปาฐะ และเพลงร้องของคนไทยที่มีมาช้านาน แบบแผนฉันทลักษณ์ซึ่งเป็นข้อกำหนด เป็นเพียง “ฉันทะ” หรือความพอใจของคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าของบทกวี
หลังจากอภิปรายกันเป็นเวลาครึ่งวัน ที่ประชุมมีมติให้บทกวีเรื่องเบี้ยได้รับรางวัลชนะเลิศ
ต่อกรณีการออกความเห็น ตามที่ปรากฏ คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาขอยืนยันมติที่ได้พิจารณาไปแล้ว และจำต้องเรียนว่า ข้อกำหนดให้บทกวีฉันทลักษณ์ต้องมีความยาว 6-12 บท ในขณะที่กลอนเปล่ามีความยาวไม่เกิน 2 หน้านั้น เป็นข้อกำหนดที่ไม่มีเหตุผลควรรับฟัง ในเมื่อกำหนดกลอนเปล่าไว้ไม่เกิน 2 หน้า ก็ย่อมต้องอนุโลมฉันทลักษณ์ได้ไม่เกิน 2 หน้า แม้ว่าข้อกำหนดนี้จะเป็นข้อกำหนดที่ประกาศไปแล้ว แต่คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาขอสงวนสิทธิ์ตามที่ระบุไว้ใน คุณสมบัติ ข้อปฏิบัติ และเงื่อนไขการประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี ข้อ 11 ว่า การพิจารณาและการตัดสินของคณะกรรมการเป็นที่สุด
จึงขอแจ้งให้ทราบว่า บทกวีเรื่องเบี้ย แม้จะมีความยาวเกิน 12 บท แต่ไม่เกิน 2 หน้า จึงอนุโลมให้ไม่ผิดเงื่อนไข
คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาขอถือโอกาสนี้ ประกาศจุดยืนว่า บทกวีฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน และจะไม่ปล่อยให้แบบแผนใดๆ มากำหนด กดกัก หรือรัดรึงคุณค่าของวรรณกรรม
คณะกรรมการขอเรียนต่อประชาชนผู้ส่งผลงานเข้าประกวด และผู้ให้ความสนใจต่อการประกวดรางวัลในครั้งนี้ว่า คณะกรรมการขออภัยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเดิมโดยเคร่งครัด แต่เลือกให้อำนาจในการใช้ดุลพนิจกับอนุกรรมการกลั่นกรองโดยมิได้ประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วไปเสียก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการผลัดคณะกรรมการผู้รับผิดชอบการประกวดกลางคัน และต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อกำหนดที่ลักลั่นไร้เหตุผลเพื่อดำเนินการประกวดให้ลุล่วงในเวลาที่จำกัด ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะต้องเป็นการใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงการเปิดกว้างในทางรูปแบบการสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมกันกว่าที่เป็นมาในอดีต เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นกันกับที่เปิดโอกาสให้งานบทกวีร่วมสมัยของไทย สามารถแสดงพลังและความหมายของมันได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบการประพันธ์ที่คับแคบอีกต่อไป
คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภาขอยืนยันว่า กรณีการอนุโลมเงื่อนไขโดยไม่ประกาศแจ้งให้ทราบก่อนนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะรางวัลวรรณกรรมที่จะจัดประกวดในปีต่อๆ ไปจะไม่มีเกณฑ์ที่แบ่งแยกกระบวนการสร้างงานวรรณกรรมอย่างไม่มีเหตุผลเช่นนี้อีก
ประการสุดท้าย ขอยืนยันว่า บทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะคุณค่าของบทกวี ย่อมไม่ถูกกดกักไว้ด้วยแบบแผนใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีบทกวีเรื่อง “เบี้ย” ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ โดยผู้ใช้นามแฝง “Unter Redest” ระบุว่า “ข้าพเจ้าเขียนบทกวีมาตลอดชีวิต เป็นกรรมการพิจารณาบทกวีมาก็หลายครั้ง ขอโทษนะ งานชิ้นที่กรรมการชุดของพวกคุณตัดสินให้รางวัลยอดเยี่ยมครั้งนี้ เป็นความยอดเยี่ยมในทางห่วยแตก” และถามไปยังผู้จัดการประกวดถึงบทกวีดังกล่าว ว่า อดสู กติกา จำนวนบท ฉันทลักษณ์ สัมผัสซ้ำ สัมผัสเลือน ได้อนุโลมหมด ขอถามว่า "ศพคนตาย" แปลว่าอะไรครับ?
ซึ่ง นายรวี สิริอิสสระนันท์ เจ้าของนามปากกา วาด รวี หนึ่งในคณะกรรมการได้ตั้งเฟซบุ๊กเฉพาะกิจเพื่อตอบโต้ ระบุว่า “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง” (ชื่อหนังสือที่แต่งโดย นายศิริวร แก้วกาญจน์) ประโยคนี้ คำว่า “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่อง” แปลว่าอะไรครับ? ผู้ใช้นามแฝง “Unter Redest” ถามกลับไปว่า “ทำไมเลือกเอางานที่มีจุดอ่อนมากขนาดนี้มาเป็นที่หนึ่ง” และยังกล่าวเสริมอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ส่งประกวด จึงไม่มีส่วนได้เสีย แต่นึกถึงคนที่เขาพยายามที่จะจำกัดเนื้อหาให้อยู่ในกติกา 12 บท แล้วต้องมาเจอว่าคนผิดกติกาได้รางวัล เป็นความชอบธรรมหรือ?”
“คำชี้แจงทั้งหมด การแก้ไขกติกา และการอนุโลมฉันทลักษณ์ หากเป็นเรื่องที่จะนำไปใช้ในปีหน้า และตัดสินตามกติกาให้เรียบร้อยในปีนี้ คงไม่มีใครว่าขนาดนี้ ขณะนี้คุณแถไปไหนก็ไม่รอดครับ” “... มิตรสหายหลายคนมองอย่างนี้ เกิน 12 บท ก็อนุโลม...ผิดฉันทลักษณ์ ก็ไม่ควรมีกรอบมากด....สรุปว่า กูจะเอาให้ได้ ...” “ประเด็นร้อนคือ ผู้ส่งประกวดอื่นๆ เคารพกติกา ยกเว้นกรรมการและผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศครับ” และ “งานทั้งหมดที่ส่งประกวด ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้ส่งประกวดต้องบังคับตัวเองให้เขียนให้ถูกต้องตามกติกาเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือคุณค่าของงานที่จะต้องพิจารณาในกรอบกติกา หากพิจารณาแล้วไม่มีบทกวีชิ้นใดที่ “ดีกว่า” ชิ้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็ต้องเลือกชิ้นที่ดีที่สุดในกติกา ไม่ใช่เลือกชิ้นที่อยู่นอกกติกา ทั้งที่งานชิ้นนี้ควรจะต้องถูกคัดออกตั้งแต่แรกครับ”
“นึกถึงกติกาแข่งรถจำกัดขนาดเครื่องยนต์ 1200 ซีซี แล้วมีคนนำรถยนต์ 1400 ซีซี ไปลงแข่ง แข่งแล้วเสือกชนะ กรรมการประกาศว่าผู้ชนะ ขับรถยนต์ขนาด 1400 ซีซี ลงข่าวใหญ่โต สรรเสริญเยินยอว่ารถยนต์ 1400 ซีซี เป็นสุดยอดรถยนต์ในสนามแข่ง แล้วได้พวกที่ขับรถ 1200 ซีซี เข้าไปแข่งตามกติกา ทำไง? ช่างแม่ง!” ผู้ใช้นามแฝง “Unter Redest” ระบุ
อย่างไรก็ตาม นายศิวกร ได้ถามกลับนายรวี หลังจากได้นำชื่อหนังสือของตนไปพาดพิง ระบุว่า “แม่ง มึงและพรรคพวกไม่เคารพกติกาการประกวด ไม่เคารพสิ่งที่พวกมึงปกป้อง ยกย่อง สรรเสริญมาตลอด แล้วจะยังมาแถแถกแหกปากทำค...ยอะไรครับพี่ครับ” ทำให้นายรวีตอบกลับไปว่า “กูไม่เคารพกติกาห่วยแตกของพวกมึงหรอก มึงอยากคลั่งฉันทลักษณ์ก็เดินตามตูดเนาวรัตน์ (นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ไปรอเป็นกวีรัตนโกสินทร์คนที่สองชาติหน้าโน่น ค...ยมึงไม่มีค่าหรอกครับ และกูก็เพิ่งรู้ว่ามึง “ปกป้อง ยกย่อง สรรเสริญ” ว่าบทกวีฉันทลักษณ์ ต้อง 6-12 บท เออเดินตามตูดเนาวรัตน์ไปน่ะดีแล้ว กูไม่เคย “ปกป้อง ยกย่อง สรรเสริญ” 6-12 บทว่ะ ขอโทษที”
ทำให้นายศิวกรกล่าวตอบโต้นายรวีอีกครั้งหนึ่งว่า “กูไม่เคยตั้งกติกาให้ใคร กูไม่เคยกระสันอยากเป็นกรรมการตัดสินอะไร แต่กติกาพาลแว่นฟ้าที่มีอยู่และพวกมึงผู้รักความถูกต้องชอบธรรม และความเป็นธรรมเท่าเทียมทั้งหลายเข้ามากุมอำนาจอันน่าหัวเราะอยู่น่ะ ถ้าพวกมึงไม่เคารพกฎกติกาเหล่านั้นเหตุใดพวกมึงไม่โละทิ้งไปก่อนนี้ล่ะ ยังมาแถเรื่องใครคลั่งฉันทลักษณ์ แม่ง ประเด็นก็คือ พวกมึงไม่เคารพกวีคนอื่นๆ ที่ร่วมประกวดทั้งหมด แล้วพวกมึงยังมีกล้ามานั่งตัดสินคุณค่าคนอื่นอยู่นี่นะ สัตว์บัดซบ!”
นายรวี กล่าวตอบโต้นายศิวกรว่า “เพราะกูเคารพบทกวีโดยไม่แบ่งแยกฉันทลักษณ์ กูจึงอนุโลม การอนุโลมแบบนี้มันละเมิดสิทธิ์คนอื่นกูยอมรับ มีได้มีเสีย ต้องแลกกัน ถ้าไม่ยอมตามกติกาเฮงซวยต้องอนุโลม ไม่งั้นก็ยึดกติกาแต่ทำลายความเป็นกวี มึงไม่สำนึกเรื่องนี้ก็เรื่องของมึง ส่วนทำไมไม่แก้กติกาแต่แรก ถ้าแก้ได้แต่แรกกูแก้ไปแล้ว ชุดก่อนมันไม่ยอมแก้ พอชุดใหม่มากติกามันประกาศไปแล้ว คนส่งเรื่องเข้ามาแล้ว และประเด็นปัญหานี้ยังไม่เกิดขึ้นในตอนนั้น ประเด็นปัญหามันเกิดหลังจากกรรมการกลั่นกรองใช้ดุลพินิจโดยอนุโลมเข้ามาแล้ว ตอนนั้นมันคือตอนจะประกาศที่ 1 แล้ว ทางเลือกไม่มี มีอยูแค่จะอนุโลมหรือไม่ และพวกกูเลือกอนุโลม”
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงคำชี้แจงนี้ว่า ตนอ่านคำชี้แจงของกรรมการแล้ว และอ่านความเห็นต่างๆ โดยเฉพาะของวาด ระวี แล้ว ยังยืนยันว่า กรรมการ พลาด และ ทางออก ของกรรมการ อย่างที่ทำ ไม่ถูกต้อง วาด ระวี และกรรมการ ด้านหนึ่ง ก็ขออภัย แต่อีกด้าน ก็ยังพูดถึง เราไม่ยอมตกอยูใต้กติกาที่ไม่เอาไหน ฯลฯ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ เห็นว่าพลาด และไม่มี และไม่ควรจะดีเฟนด์ใดๆ อีก ประเด็นคือ เวลาประกาศกติกาไป เราต้อง assume ว่า คนส่งเข้าประกวด หรือคิดจะส่งเข้าประกวด พยายามเขียนกวี บนพื้นฐานทีพยายามจะให้ตรงตามกติกา หรือข้อจำกัดที่ประกาศไว้ ดังนั้น มันจึงไม่แฟร์สำหรับคนเหล่านี้ที่คิด และส่งเข้าประกวด ภายใต้ความเข้าใจเช่นนี้ ที่จะมีการให้รางวัลกับบทกวีทีผิดกติกา
ประเด็นเรื่องข้อกำหนดมันไม่เอาไหน ที่ วาด ระวี พูด มันไม่เป็นประเด็น (irrelevant) เลย เพราะอย่างที่เขียนไปว่า นี่เป็นกติกาทีประกาศไป และเราต้อง assume (ทึกทักเอา) ว่า มันมีผลต่อคนส่วนใหญ่ที่สุด (ทุกคน) ที่คิดจะส่งเข้าประกวด คือไปจำกัดการคิดของเขาแต่ต้น การที่บังเอิญมีบางคนทำผิดกติกามา เขียนมายาวกว่าที่กำหนด ไม่ได้ทำให้ภาวะนี้เปลี่ยนไปว่า คนอื่นๆ เขียนมา โดยเข้าใจว่า ต้องมีความยาวตามทีกำหนด ดังนั้นจึงไม่แฟร์สำหรับคนเหล่านั้น ที่เขียนภายใต้กติกาที่ประกาศไป
“8 วรรค สำคัญอย่างไร สมมติผมเป็นคนเขียนบทกวีส่งประกวด และเขียนตามกติกาทุกอย่าง แต่ไม่ได้รางวัล ผมอาจจะอ้างได้เต็มที่ว่า สมมุติผมรู้ว่าสามารถเขียนยาวเกินกว่ากติกาก็ได้ โดยที่อาจจะได้รางวัลได้ ผมก็อาจจะอ้างได้ว่า อ้าว ถ้าผมไม่ต้องจำกัดตามกติกา เผลอๆ ผมอาจจะลงท้ายบทกวีของผมต่อไปอีก 8 วรรคอย่างเจ๋งมากๆ ทำนองนี้ ก็ได้ “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า.... ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” แน่นอน ผมสมมติโดยยก 8 วรรคสุดท้าย ของบทกวีทีมีชื่อเสียงของวิสา (คัญทัพ) ขึ้นมา ไม่ได้หมายถึงว่า ใครสักคนจะลอกส่งมา ประเด็นคือ ถ้าผมเป็นคนทำตามกติกา ผมสามารถอ้างได้ว่า ถ้าผมเขียนต่อไปอีก 8 วรรค ผมอาจจะสามมารถ ลงท้าย แบบเจ๋งๆ ทำนอง “ไม่มีอำนาจใด..” ก็ได้ และกรรมการไม่มีทางจะโต้ว่า ผมไม่มีทางทำได้ หรืออะไรแบบนั้น เพราะไม่มีทางรู้ หรือ assume ไว้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น มันจึงไม่แฟร์ สำหรับผมที่เขียนโดยจำกัดตัวเองตามกติกา” นายสมศักดิ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “อันนี้ ผมเสนอต่อบรรดา "เพื่อนฝูง" ที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นกรรมการ “พานแว่นฟ้า” ด้วยความปรารถนาดีจริงๆ นะครับ
ผมว่า “โมฆะ” หรือยกเลิกการตัดสินไปเถอะ แล้วลาออกแสดงความรับผิดชอบอะไรกันไป
มองในระยะยาว มองในภาพรวม นี่เป็นทางออกที่ถูกทีสุดนะ (ในแง่ “การเมือง” ด้วย ถ้าจะคิดในแง่นั้น)
(ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เขียน “เบี้ย” ด้วย อย่างทีผมยืนยันแต่แรกว่า เรืองนี้ไม่เกียวกับคุณ หรือคุณภาพงานของคุณ (เพราะ กรรมการ เป็นคนตัดสินใจให้รางวัล ไม่ใช่คุณตัดสินใจเอง) อันที่จริง ถ้าคุณจะประกาศ ไม่รับรางวัลเสียเอง ก็จะยิ่งดี แต่่อันน้ัน ผมไม่กล้าเรียกร้อง เพราะเห็นว่า ไมใช่ความรับผิดชอบหรือการตัดสินใจของคุณที่ได้รางวัล แต่ใจจริง ผมก็ว่า การได้รางวัล ภายใต้สภาพแบบนี มันไม่ดีต่องานของคุณเองเหมือนกัน ก็แล้วแต่คุณจะตัดสินใจนะ)”
ขณะที่ นายบัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เป็นคำแถลงที่ส่งเสริมประชาธิปไตยซะเหลือเกิน นี่คือการตะแบงของคณะกรรมการผู้มีดาบอาญาสิทธิ์คำตัดสินถือเป็นที่สุด อ้างข้อนี้มาเพื่อแถว่าตัวเองมีสิทธิ์อนุโลม นี่คือรางวัลที่มีจุดหมายส่งเสริมประชาธิปไตยแต่กรรมการกลับไม่เข้าใจคุณค่านี้ อำนาจทุกอำนาจในประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ฮ่องเต้ฟาโรห์ กติกาตั้งมาจะดีเลวไม่ถูกใจก็ต้องตามนั้น ถ้าไม่พอใจกรอบหนึ่งแก้ สองถ้าแก้ไม่ทันก็ไม่ต้องเป็นกรรมการ ใช้อำนาจบาตรใหญ่อะไรมาฉีกกติกที่คุ้มครองคนอื่นทิ้ง กติกาคือหลักเกณฑ์พื้นฐานของสังคมแบบประชาธิปไตยนะ น่าหัวร่อกับนักเขียนกวีผู้ยิ่งใหญ่รักประชาธิปไตยขนาดเป็นกรรมการระดับอาเซียนเชียวนะ ถ้อยแถลงอันนี้คือการกระตุ้นสังคมให้สนใจหลักพื้นฐานประชาธิปไตยชั้นเยี่ยม นี่ไงลูกหลานๆ ตัวอย่างของพวกใช้เสียงข้างมากดั้นเมฆเพื่อประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ ทั้งเก่าและที่เข้ามาใหม่ มีเวลาประชุมหารือเรื่องการทำงาน กติกา การเลื่อนระยะเวลารับชิ้นงาน และมีการแถลงสื่อสารกับสาธารณะตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.แต่ทำไมไม่แถลงเรื่องเงื่อนไขใหม่ กติกาใหม่ หรือการอนุโลมชิ้นงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ไร้ครหา และสนับสนุนกระบวนการแบบประชาธิปไตยจริงๆ ทำไม ในที่ประชุมก่อนแถลงข่าวไม่มีใครแก้กติกาอันเก่าที่พวกคุณไม่ชอบหารือกันเพื่อปรับเปลี่ยน ยืนยันว่าพวกคุณไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะ ต่อผู้เข้าประกวด ต่อรางวัลของรัฐสภาที่ใช้เงินภาษีประชาชนมาจ่าย อย่างเพียงพอ และเป็นมืออาชีพ แล้วก็มาโมเมดั้นเมฆว่าไม่มีเวลา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกรรมการ ทำได้แค่อนุโลม
“ขอยืนยันว่านี่คือกระบวนการแจกรางวัลที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยที่สุด” นายบัณรส กล่าว
อนึ่ง สำหรับบทกวีเรื่อง “เบี้ย” นั้นเป็นของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับโล่เกียรติยศ เข็ม เกียรติบัตร และเงินรางวัล 1 แสนบาท ซึ่งได้มีการมอบรางวัลโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมาอรุณรุ่งมักจะเขียนบทกวีเผยแพร่ไปยังเว็บไซต์เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น ไทยอีนิวส์ ประชาไท ฯลฯ โดยเน้นเชิดชูวีรกรรมคนเสื้อแดง ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ต่อต้านอำนาจทหาร รวมทั้งเหน็บแนมชนชั้นกลางว่า “ดัดจริต” อีกด้วย