รองนายกฯ นำทีมงาน กบอ.ล่องเรือเจ้าพระยา พบอยุธยาน้ำล้นตลิ่ง 8 อำเภอ อ่างทองกระทบชาวบ้านโผงเผงริมน้ำ นนทบุรี-ปทุมธานีเอาอยู่ เจ้าตัวบอกไม่น่าห่วง ลั่นไม่ท่วมเหมือนปี 54 กล่อมคนค้านเขื่อนแม่วงก์ บอกให้มองภาพรวมของประเทศ อ้างมีหลายเขื่อนรวมกันรองรับน้ำได้มาก “วิม” เผยนายกฯ สั่งเกาะติดหลังน้ำท่วมขยายวงกว้าง
วันนี้ (22 ก.ย.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พร้อมด้วยคณะ อาทิ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงเรือบริเวณท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อตรวจแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดเข้ารายงานสถานการณ์น้ำของแต่ละจังหวัด
โดย นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี รายงานสถานการณ์น้ำในจังหวัดนนทบุรีว่า ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยปริมาณน้ำริมแม่น้าเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด ต่ำกว่าระดับที่จะกระทบบ้านเรือนประชาชน ส่วนปริมาณน้ำที่ปล่อยมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.บางไทร อยู่ที่ 1,546 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที ต่ำกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อ จ.นนทบุรี ทั้งนี้ก็ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวในการประกาศเตือนภัยล่วงหน้า หากมีเหตุฉุกเฉิน และเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยให้พื้นที่ทำการลอกท่อระบายน้ำ กำจัดผักตบชวา วางคันกั้นน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำป้องกันน้ำท่วมผิวการจราจรบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ แยกแคราย และถนนราชพฤกษ์ด้วย
ขณะที่ จ.ปทุมธานี นายชูชาติ ศุภวรรธนางกูร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2.25 เมตร ต่ำกว่าแนวเขื่อนกั้นน้ำที่สูง 3.35 เมตร ถือว่าสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง แต่เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออก เช่น ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต และเซียร์รังสิต จะเร่งระบายน้ำให้อยู่ที่ 1.60 เมตร จากปัจจุบันที่ปริมาณน้ำฝั่งตะวันออกในคลองรังสิตประยูรสักที่ 1.70 เมตร เพื่อเตรียมรองรับน้ำที่จะมาจาก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ปริมาณน้ำดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด
ด้าน นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางปะอิน อ.บางไทร คลองบางหลวง คลองโผงเผง และคลองบางบาล ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร แม่น้ำน้อย ตั้งแต่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางไทร ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร แม่น้ำลพบุรี อ.บ้านแพรก อ.มหาราช อ.บางปะหัน อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำเพิ่มขึ้น 10-20 เซนติเมตร ส่วนแม่น้ำปากสัก ระดับน้ำทรงตัว เพราะน้ำจาก อ.มวกเหล็ก และ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เริ่มทรงตัวแล้ว เฉลี่ยแล้ว มีน้ำล้นตลิ่งตามจุดต่างๆ ประมาณ 20 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร โดยเฉพาะที่ อ.บางบาล เนื่องจากถือเป็นที่ลุ่มรับน้ำอยู่แล้ว ส่วนตัวเมือง โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจหรือเขตชุมชน ได้ทำผนังกันน้ำไว้แล้ว สูง 2.30 เมตร คาดว่าสามารถป้องกันน้ำเข้าตัวเมืองได้ สรุปแล้ว รวมพื้นที่น้ำล้นตลิ่งทั้งหมด 8 อำเภอ 80 ตำบล 1 เทศบาลเมือง คิดเป็น 405 หมู่บ้าน 11,908 ครัวเรือน วัด 7 วัด ซึ่งทางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ นายวิศวะ ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อดูจากปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา คาดว่า พื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริงเมื่อมีการปล่อยน้ำปริมาณ 1,750 ลูกบาทเมตรต่อวินาที ประกอบกับน้ำฝนที่ตกลงมา ก็ทำให้ ต.โผงเผง มีน้ำท่วม 8 หมู่บ้านจากทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบ 350 ครัวเรือน ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวบริเวณคลองโผงเผง ตลิ่งจะสูง 4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 6 เมตรแล้ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ก็เป็นเพียงประชาชนที่อยู่ริมน้ำ เพราะยังมีคันกั้นน้ำที่เป็นแนวถนนอยู่ และระดับน้ำก็ห่างจากแนวถนนดังกล่าวประมาณ 2-3 เมตร แต่ก็ถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และปริมาณน้ำดังกล่าวก็ถือว่าเป็นเพียง 1 ใน 10 ของปี 2554 นอกจากนี้ ก็ยังมี อ.เมือง ที่มีความสุ่มเสี่ยงจากคันดินที่ทรุดตัวลง ทำให้ระดับน้ำปริ่มตลิ่ง แต่ขณะนี้มีผลกระทบกับประชาชนเพียง 1 ครัวเรือนเท่านั้น แต่หากมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นมาอีกคงต้องเตรียมตัวหนักขึ้น
นอกจากนี้ นายเลิศวิโรจน์ ได้กล่าวสรุปปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมานน้ำสะสมในพื้นที่จุดรับน้ำจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่ 1,456 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที และจากนี้ระดับน้ำอาจสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าฝนไม่ตกลงมาอีก ระดับน้ำก็จะลดลงไป ทั้งนี้ในส่วนของเขื่อนเจ้าพระยา มีน้ำไหลผ่าน 1,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าปริมาณที่สามารถรองรับได้ที่ 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังอยู่ในปริมาณที่รองรับได้ โดยกรมชลประทาน จะระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ด้านข้าง ทั้งบริเวณแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย แม่น้ำชัยนาท-ป่าสัก (คลองอนุศาสนนันท์) แม่น้ำชัยนาท-อยุธยา (คลองมหาราช) อยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ประชาชนต้องพร่องน้ำออกมาจากนาข้าว ประกอบกับฝนที่ตกลงมาทำให้ยังมีน้ำในพื้นที่ และแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถระบายน้ำได้อยู่
นายปลอดประสพ กล่าวถึงผลการตรวจในวันนี้ว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น่าเป็นห่วง และจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แต่สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ พายุจากคาบสมุทรแปซิฟิกที่อาจจะเข้ามาหลังจากนี้ เพราะจากสถิติจากนี้ถึงสิ้นปี จะเกิดพายุในคาบสมุทรแปซิฟิก 5-10 ลูก แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าที่ใด และร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลางตอนบน ซึ่งจะมีแน่นอนโดยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางตอนบน รวมถึงน้ำทะเลหนุนสูง ที่ปีนี้สูงกว่าปกติ 10-30 เซนติเมตร จะส่งผลต่อพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ทั้งนี้ หากองค์ประกอบดังกล่าวไม่เกิดพร้อมกันก็ไม่น่าเป็นห่วง ให้พื้นที่ที่มีปัญหาแก้ปัญหาของตนเองไป แต่หากทั้ง 3 องค์ประกอบเกิดขึ้นพร้อมกัน อาจทำให้เกิดปัญหาในระยะสั้นได้ และมั่นใจว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจะได้รับข้อมูล กรม กระทรวง แต่หลังจากนี้อยากได้ข้อมูลจริงจากระดับจังหวัด และอำเภอ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ
นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงการเดินขบวนทวงคืนผืนป่า กรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ จ.นครสวรรค์ ว่า ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่อยากให้ผู้ชุมนุมคำนึงถึงภาพรวมของประเทศเป็นหลัก มองคนที่จะได้รับผลกระทบ ที่มีการระบุว่า การสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ ฝายเล็กๆ ในพื้นที่ จะป้องกันปัญหาน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวได้นั้นตนไม่เถียง แต่การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อรวมกับหลายเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ จะสามารถรองรับน้ำปริมาณได้มาก แม้แต่ละเขื่อนจะมีบทบาทไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถป้องกันน้ำท่วมได้
“การที่ที่ซักแห่งจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อประเทศไม่ได้ต้องออกแรงช่วยกัน เมื่อรวมกันแล้วจะมากเอง ท่านแสดงความเห็นมาไม่เป็นไร ผมพร้อมรับฟัง” รองนายกฯ กล่าว
อีกด้านหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้นายปลอดประสพติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้มีการรายงานนายกฯ โดยตรงทุกวัน ส่วนจังหวัดพื้นที่ภาคกลางที่ประสบปัญหาในขณะนี้ เป็นเหตุจากน้ำที่เอ่อล้นขึ้นตามปกติ เพียงแต่ว่าคนไทยประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 จึงทำให้รู้สึกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอย ขณะที่คนพื้นที่เข้าใจดี และอาจท่วมพื้นที่เกษตรบางส่วนบ้าง
ทั้งนี้ จากรายงานพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเวลานี้เป็นพื้นที่ที่กันไว้เป็นแก้มลิงและฟลัดเวย์ มีน้ำท่วมทุกปีซึ่งรัฐบาลจะทำการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ ส่วนกรณีน้ำท่วมฉับพลัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้งเตือนประชาชนผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว และเตรียมเครื่องมือให้การช่วยเหลือไว้แล้วกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เพราะอาจเกิดเหตุการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาล้นมีความจำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำลงมา