xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลโต้ “วสันต์” ตะแบงไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญเรื่องจำนำข้าว อ้างแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“สุรนันทน์” ร่อนเพรสรีลีสถึงสื่อ แจงอดีตตุลาการศาล รธน.กล่าวถึงรัฐบาลไม่แถลงผลงาน 1 ปี อ้างส่งรายงานไปแล้ว แต่สภาไม่พิจารณาเอง ส่วนเรื่องจำนำข้าวตะแบงไม่ผิดรัฐธรรมนูญ อ้างเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา อ้างแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ด้าน “หมวดเจี๊ยบ” ออกทะเลโยงถึงเรื่องรัฐประหารหน้าตาเฉย

วันนี้ (9 ก.ย.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเอกสารข่าว (เพรสรีลีส) อิเล็กทรอนิกส์ถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ระหว่างปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมากล่าวถึงการกระทำขัดรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ในประเด็นการไม่แถลงผลงานรัฐบาลภายใน 1 ปี นับแต่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสอง กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจะต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง โดยกล่าวว่า ภายหลังที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 รัฐบาลได้เริ่มบริหารประเทศเรื่อยมาซึ่งครบกำหนด 1 ปี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2555 รัฐบาลจึงได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี

โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2555 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อส่งรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคสอง บัญญัติไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อมา เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินการเสนอรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 แล้ว จึงถือว่าได้รัฐบาลได้กระทำการตามหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังไม่ได้แถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภานั้น ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งโดยถือเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เอง ซึ่งรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารจะไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงหรือแทรกแซงใช้อำนาจดังกล่าวได้ หากรัฐบาลเข้าไปก้าวล่วงหรือแทรกแซง ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ส่วนประเด็นเรื่อง การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) คือ ที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยกำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนนั้น นายสุรนันทน์ ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ที่มีนโยบายยกระดับสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าว ดังนั้น จึงถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวถือเป็นโครงการที่มุ่งประสงค์จะช่วยเหลือโดยการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเป็นสิทธิของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ก็ได้ โดยมิได้มีการบังคับแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามมาตรา 84(8) ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด จึงเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ให้คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด

อีกด้านหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ต่อรัฐสภา นโยบายรับจำนำข้าว และไม่ได้มีรัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้น ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์​ ในส่วนของการแถลงผลงานรอบ 1 ปี ต่อรัฐสภานั้น รัฐบาลขอยืนยันว่า รัฐบาลได้จัดทำเอกสารรายงานสรุปผลงานของรัฐบาล ครบ 1 ปี เสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 55 และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลงานครบรอบ 2 ปี จึงขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ต่อรัฐสภา ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าจะจัดระเบียบวาระการประชุมอย่างไร ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่ก็ถือว่ารัฐบาลได้ทำตามหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนดไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐสภา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาหรือกำหนดเส้นตายไว้ว่าต้องมีการแถลงผลงานต่อรัฐสภาภายในกี่วัน ดังนั้น ระยะเวลาจึงไม่ใช่ข้อบังคับในทางกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็พร้อมที่จะไปชี้แจงหรือแถลงต่อสภาแล้ว และขอยืนยันว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ปฏิบัติแตกต่างจากที่รัฐบาลในอดีตได้กระทำมา เช่น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้แถลงผลงานครบ 1 ปี ต่อรัฐสภา ในทันทีที่ครบกำหนด 1 ปี เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดเท่านั้น

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่านโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีการแทรกแซงกลไกตลาดนั้น รัฐบาลขอยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้กินดีอยู่ดี ซึ่งรัฐบาลก็เคารพหลักการของรัฐธรรมนูญที่กำหนดแนวทางการออกกฎหมายเพื่อบริหารประเทศเอาไว้ และสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ดำเนินการไป ก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปล่อยให้ตลาดมีการแข่งขันเสรี 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การใช้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรับจำนำ หรือ วิธีการประกันราคา รัฐบาลก็มีส่วนเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ไม่ได้ปล่อยให้ตลาดแข่งขันอย่างเสรี 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติของทุกรัฐบาล ไม่เคยมีการนำเรื่องเทคนิคของกฎหมายมาเป็นประเด็นโจมตี ว่าขัดแนวทางของรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลเลย และที่สำคัญนโยบายรับจำนำข้าว ก็เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา หากรัฐบาลไม่ดำเนินการต่อ ก็ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย

ส่วนประเด็นที่มีการโจมตีว่า รัฐบาลชุดนี้มีสถานะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่ามีรัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้นนั้น ขอปฏิเสธว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้อำนาจจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างชอบธรรมตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เป็นรัฐบาลหนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ มีความรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ ทั้งในความรับผิดชอบทางการเมืองและความรับผิดชอบทางกฎหมาย โดยไม่มีใครมารับผิดชอบแทนบุคคลเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรีจะรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาด้านต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐบาลทุกชุดไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ หรือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประเทศใดๆ ในโลก ก็ล้วนแต่มีที่ปรึกษาทั้งนั้น โดยเฉพาะในการบริหารโครงการใหญ่ๆ บางครั้ง ก็ถึงกับต้องจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่ที่สุดแล้ว การตัดสินใจและความรับผิดชอบต่างๆ ก็อยู่ที่รัฐบาลอยู่ดี อย่างไรก็ตาม น่าแปลกใจที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มักจะโจมตีรัฐบาลในประเด็นของความไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้ ไม่เคยมีบทบาทในการคัดค้าน หรือแม้แต่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 หรือ ประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 50 เป็นผลพวงต่อการรัฐประหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น