xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบยางจบยาก-ไม่จบเพราะรัฐคิดแต่การเมืองไม่สนความเดือดร้อน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เป็นไปได้อย่างไรที่ชาวสวนยางพาราและชาวสวนปาล์มน้ำมันในภาคใต้ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อมานานเกือบเดือนแล้ว แต่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่สนใจข้อเรียกร้องของเกษตรกรโดยมองกลุ่มเกษตรกรที่ออกมาชุมนุมดังกล่าวว่าเป็น "ม็อบการเมือง" ซึ่งหากพูดกันแบบไม่อ้อมค้อมก็คือต้องการกล่าวหาว่าเป็น "ม็อบประชาธิปัตย์"นั่นแหละ ทีนี้คำถามก็คือแล้วใช่หรือเปล่าละ แน่นอนว่าทุกม็อบมันก็ต้องมีการเมืองทั้งนั้นแหละ และชาวสวนยางและปาล์มที่ออกมาคราวนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทางภาคใต้ และส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ก็แล้วไง มันผิดตรงไหน ในเมื่อเขาเดือดร้อนเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ และส่วนหนึ่งก็มาจากการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกกันขนานใหญ่จนเกิดผลผลิตล้นตลาด ก็ล้วนเป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลในยุค ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่เป็นน้องสาว

การมองว่าเป็นม็อบการเมืองฝ่ายตรงข้ามแล้วไม่ช่วยเหลือ ไม่ยอมยืดหยุ่น โดยยืนยันในตรรกะพิลึกว่าสำหรับยางพาราจะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด จะเข้าไปแทรกแซงบิดเบือนกลไกลาดไม่ได้เป็นอันขาด ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นต่างกันแบบตรงข้าม เช่น ข้าว ที่รัฐบาลเข้าไปอุ้มแบบใช้เงินงบประมาณชาวบ้านเข้าไปแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาดกันไม่อั้น มีการตั้งงบขาดทุนกันล่วงหน้า รวมไปถึงการกู้เงินเข้าโปะเข้ามาเติมไม่ได้ขนาด ตอนแรกเมื่อครั้งลดราคาจำนำจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือเพียงตันละ 12,000 บาท รัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง อ้างถึงกลไกตลาด และวินัยการคลัง แต่เมื่อถูกชาวนาที่เป็นฐานเสียงต่อว่า ขู่ไม่สนับสนุน เท่านั้นแหละแค่ชั่วข้ามคืนก็พลิกกลับมาเหมือนเดิม

ขณะที่ในฤดูกาลล่าสุด ปี 56/57 รัฐบาลก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้รับซื้อข้าว(จำนำ)ในาคาตันละ 15,000 บาทสำหรับข้าวนาปี ส่วนข้าวนาปรังรับซื้อตันละ 13,000 บาท วงเงินครอบครัวละไม่เกิน 3.5 แสนบาท เป็นมติวันเดียวกับที่ปฏิเสธข้อเสนอของชาวสวนยางในเรื่องการประกันราคารับซื้อยางจากชาวสวนที่เกษตรกรยอม"ถอยลงมาจนเกือบสุดซอยแล้ว"เพราะเดิมยื่นเรียกร้องราคากิโลกรัมละ 120 บาท ก็ยอมลดลงมาเรื่อยๆ เหลือ 101 บาทสำหรับบางแผ่นรมควันชั้นสาม จนมาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท อีกทั้งแกนนำก็ยอมอ่อนท่าทีลงมายอมเดินทางมาเจรจากับตัวแทนรัฐบลที่นำโดย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯด้านความมั่นคง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เจรจากันอยู่นานสองนาน แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า รัฐบาลยังยืนยันว่าจะ "ช่วยเรื่องปุ๋ย"ท่าเดียว และยังพูดเหน็บแนมอยู่ตลอดเวลาว่า "ม็อบการเมือง"

อย่างไรก็ดีในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 5 กันยายน เกษตรกรก็ยังพอมีความหวังบ้าง เนื่องจาก กิตติรัตน์ บอกว่าจะนำข้อเรียกร้องไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ที่ตัวเองเป็นประธาน แต่ผลออกมาก็เป็นไปตามคาดในตอนบ่ายวันเดียวกันคือ ขยายจำนวนไร่ในการรับปุ๋ยจากเดิม 10 ไร่ เพิ่มเป็น 25 ไร่ โดยไม่พูดถึงเรื่องราคาประกันตามข้อเรียกร้อง ซึ่งที่ออกมาแบบนี้มันก็พอหลับตานึกภาพออกอยู่แล้วว่ามันจะปั่นป่วน "เดือดดาล"กันเพียงใด

การยืนกรานของรัฐบาลแบบ "อยู่กันคนละโลก"กับชาวสวนแบบนี้ มันเสี่ยงต่อเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เพราะหลังจากนี้แหละจะมีโอกาสพัฒนาเข้าสู่ "ม็อบการเมือง" เต็มขั้น นั่นคือจะกลายเป็นการชุมนุม "ขับไล่รัฐบาล"ชุดนี้ออกไป ถึงตอนนั้นก็จะเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลจะหน้ามืดใช้กำลงตำรวจเข้าปราบปราม แม้ว่าอาจจะสลายการชุมนุม มีการจับกุมแกนนำไปได้ แต่รับรองว่าปัญหาไม่จบ จะกลายเป็นความแตกแยกในประเทศ ในภูมิภาค ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนี้กลายเป็นเรื่องการเมือง อย่างเต็มขั้นแล้ว โดยฝ่ายที่ "เล่นการเมือง"ก็คือ รัฐบาล นั่นแหละ

เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังยืนยันท่าทีแบบแข็งกร้าว ไม่ยอมอ่อนข้อ ลักษณะจึงไม่ต่างจากการมองชาวบ้านเป็นศัตรู ทั้งที่พวกเขาเดือดร้อน ขณะเดียวกันความเดือดร้อนดังกล่าวก็ล้วนเป็นผลมาจากความล้มเหลวห่วยแตกจากรัฐบาชทั้งสิ้น ห่วยมาตั้งแต่ "พี่ชายยันน้องสาว" แต่พอชาวบ้านยกขบวนมาขอความช่วยเหลือ กลับปิดประตูใส่หน้าไม่ใยดี มิหนำซ้ำยังพยายามบิดเบือน จ้องทำร้ายจับกุม

อย่างไรก็ดีสิ่งที่มองว่ารัฐบาลกำลังเล่นการเมืองเพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตัวเองก็คือ คำว่า "ประกันราคา" หากติดตามก็จะรู้ว่านี่คือ "นโยบายของฝ่ายตรงข้าม"คือ ประชาธิปัตย์ ซึ่งหากจะว่าไปแล้วการประกันราคาโดยช่วยเหลือชดเชยในราคาส่วนต่างก็คงใช้เงินไม่มาก และทำได้ทั่วถึงกว่า แต่เมื่อสังเกตดูจากอาการของ กิตติรัตน์ ที่แข็งกร้าวผิดธรรมชาติ ทำให้มองได้ว่าอาจเป็น "ใบสั่ง"เข้ามาว่าห้ามใจอ่อนเด็ดขาด เพราะถ้าช่วยด้วยการใช้วิธีประกันราคามันจะเสียเครดิต เพราะจะส่งผลกระทบไปถึงนโยบาย "รับจำนำ"ที่กำลังเจ๊งแบบมหาวินาศอยู่ในเวลานี้

ดังนั้นมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องเดินหน้าต่อ และเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีแข็งกร้าวใช้กังสลายการชุมนุม แต่เมื่อถึงตอนนั้นรับรองว่า "เละแน่" !!
กำลังโหลดความคิดเห็น