เลขาฯ สมช.ยังไม่หารือมาตรการรับม็อบยางทั่วไทย 3 ก.ย.เหตุต้องการเคลียร์ไม่ให้มีการชุมนุม คาด 2 วันนี้รู้ผล ด้าน รมว.มหาดไทย สั่งตั้งวอร์รูมม็อบยางภาคใต้ ผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะ ทำเป็นแย้มแผนล้อมปราบม็อบ มีอ่อนสุดยันแข็งสุด เหน็บยิ่งดิ้นราคายิ่งตก ไม่วายอ้างนักการเมืองหวังใช้ปลุกระดม
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการชุมนุมของชาวสวนยางในวันที่ 3 ก.ย.นี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นหารือกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นที่พอใจของเกษตรกร ไม่ให้เกิดการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.โดย พล.ต.อ.ประชา ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงพื้นที่พูดคุยให้ได้ข้อสรุปเพื่อหาข้อยุติ คาดภายใน 1-2 วันนี้จะได้ความชัดเจน ซึ่งหากการพูดคุยยังไม่ลงตัวก็ต้องมาประเมินสถานการณ์และจำนวนผู้ชุมนุมเพื่อหามาตรการป้องกัน ขณะนี้ยอมรับว่ารัฐบาลยังไม่ได้กำหนดมาตรการอะไรเพื่อรับมือการชุมนุม เพียงแต่พูดคุยให้ไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้นเท่านั้น
อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกระทรวงมหาดไทย ว่า การประชุมกระทรวงครั้งนี้ จะเน้นย้ำสถานการณ์ปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมตกลงประกันราคายางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งเกษตรกรก็รับได้ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท แต่ขณะนี้บุคคลที่ยังชุมนุมอยู่คาดว่าอาจไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่พอใจในการที่รัฐบาลเสนอประกันราคายางดิบที่กิโลกรัมละ 80 บาทแล้ว นอกจากนี้ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ชะอวด ก็ไม่เห็นด้วยที่มีการชุมนุมปิดทางรถไฟ
นายจารุพงศ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้ทุกจังหวัดติดตามเรื่องการข่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตั้งศูนย์เพื่อประมวลข่าวกรองที่เข้ามา โดยในทีมผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหน้าที่ประธานหัวโต๊ะ ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรของจังหวัดนั้นๆ เป็นทีมงานวิเคราะห์สถานการณ์การข่าว ความเดือดร้อน และแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดที่จะต้องนำเสนอมายังกระทรวง ซึ่งทางกระทรวงจะตั้งทีมรับข่าวสารต่างๆ รวมถึงประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกระทรวงอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะนำเสนอ ครม.ต่อไป
“ความเดือดร้อนของเกษตรกรเราเข้าใจ แต่การแก้ไขต้องแก้ไขบนฐานของเหตุและผล ปัญหาการเดินขบวนและการปิดถนนก็จะไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงขอวิงวอนว่าขอให้ความร่วมมือกับฝ่ายราชการด้วย รวมถึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดว่าให้เจรจาด้วยเหตุและผลไม่ให้ใช้กำลัง ผมไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะจะเป็นการให้ราคา แผนป้องกันในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ผมมีแต่ไม่อยากจะแบไต๋ แก้ผ้าหมด แต่ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะทำอะไร มีแผนงาน แต่ถ้าพูดไปจะเป็นการยั่วยุ ส่วนประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องขอให้นิ่งนอนใจว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่เฉยๆ มีมาตรการตั้งแต่อ่อนสุดจนถึงแข็งสุด ยืนยันว่าเราพร้อมที่เจรจาพูดคุยกันแบบสันติวิธี และอยากขอร้องว่าถ้าเดือดร้อนจริงควรมาพูดคุยร่วมกันแล้วแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่แบ่งแยก ผมอยากจะบอกว่ายิ่งดิ้น ราคายิ่งตก และฝากบอกคนที่อยู่เบื้องหลังด้วยว่าเจตนาที่แท้จริงต้องการช่วยเหลือ เกษตรกรจริง หรือใช้เกษตรกรเป็นเครื่องมือ วันนี้ส่วนตัวผมเชื่อว่าใช้เกษตรกรและความเดือดร้อนเป็นเครื่องมือ เพราะปลุกระดมเรื่องการเมืองไม่สำเร็จจึงหันมาเรื่องเงื่อนไขปากท้องของประชาชน” นายจารุพงศ์ กล่าว