xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสั่ง “ชัชชาติ” พาสื่อดูใช้ยางสร้างถนน กระตุ้นใช้ในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (แฟ้มภาพ)
รัฐบาลตื่นสั่ง “ชัชชาติ” พาสื่อดูการใช้ยางพาราก่อสร้างถนน เพื่อกระตุ้นการใช้ยางในประเทศไทย อ้างยางพารา ไม่เหมาะที่จะแก้ปัญหาโดยใช้วิธีแทรกแซงราคา ยันรัฐบาลดูแลเกษตรกรเท่าเทียมกัน ขอฝ่ายค้านเลิกโจมตี

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง และมีแนวทางช่วยเหลือหลายมาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยขณะนี้มีบางมาตรการที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การนำยางพารามาใช้ก่อสร้างถนน โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณานำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนน แบบที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการระบายสต็อคยางพารา รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยางพาราและชาวสวนยางในระยะยาวอีกด้วย โดยวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค. 56) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม จะพาสื่อมวลชนไปสำรวจการนำยางพาราไปใช้ก่อสร้างถนน ของกระทรวงคมนาคมบริเวณดอนเมืองโทลล์เวย์ กทม.

นอกจากนี้ รัฐบาลขอปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่ได้มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรื่องใด โดยนายกฯ ได้กำชับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีว่า ให้กำกับดูเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติกับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวสวนยาง หรือผู้ชุมนุมทางการเมือง อย่างละมุนละม่อม และปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและเป็นไปตามหลักสากล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอวิงวอนผู้ประท้วงให้เคารพกฎหมายด้วย เพราะรัฐบาลก็ต้องดูแลและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนจากการชุมนุมด้วยเช่นกัน จึงขอวิงวอนผู้ชุมนุมอย่าใช้วิธีการปิดถนน หรือปิดสถานีรถไฟ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่แท้จริง ทั้งยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย จึงขอให้ผู้ชุมนุมใจเย็นๆ และหันมาพูดคุยกัน เพราะขณะนี้ราคายางพาราในตลาดโลกกำลังปรับตัวสูงขึ้น หากผู้ชุมนุมจับมือกับรัฐบาล เราจะสามารถผ่านพ้นปัญหาราคายางตกต่ำไปได้ด้วยกัน ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ลำเอียงหรือเอาใจชาวนา มากกว่าชาวสวนยาง อย่างที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวหา แต่รัฐบาลรักเกษตรกรเท่ากันทุกคน แต่ผลผลิตทางการเกษตรแต่ละประเภท ย่อมมีปัจจัยทางการผลิตและการตลาดแตกต่างกัน จึงต้องใช้โมเดลหรือวิธีการที่แตกต่างกันในการช่วยเหลือเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

นอกจากนี้ กรณีของยางพาราก็ไม่เหมาะที่จะแก้ปัญหาโดยใช้วิธีแทรกแซงราคาเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจาเป็นตลาดที่ผู้ซื้อเป็นฝ่ายกำหนดราคา เพราะยางดิบที่ผลิตได้ในอาเซียนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ผู้ซื้อจึงดูที่ราคาต่ำที่สุดเป็นหลัก โดยผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลก คือ จีน และกลุ่มผู้ประท้วงเองก็ระบุว่าไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลแทรกแซงราคายาง ดังนั้น จึงขอให้พรรคประชาธิปัตย์หยุดโจมตีว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างชาวนาได้แล้ว และนอกจากชาวสวนยางแล้ว รัฐบาลก็จะดูแลพืชผลทางการเกษตรกรอื่นๆ ที่จะประสบภาวะราคาผลผลิตตกต่ำอย่างเต็มที่เช่นกัน โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นฐานเสียงของรัฐบาลหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลคนทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น