xs
xsm
sm
md
lg

“วิม” โผล่ป้ายสี อ้างนายทุนตุนยางดิบ-ใช้ม็อบกดดัน “เด็จพี่” ขู่เช็กบิลคนกระจายข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิม รุ่งวัฒนจินดา
โฆษกเศรษฐกิจจ้อนายกฯ ทำห่วงม็อบสวนยาง สั่ง “กิตติรัตน์” ช่วยเหลือ ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ-ลดราคาปุ๋ย ลั่นเป็นไปไม่ได้ประกันราคาร้อยยี่สิบ หวั่นต่างประเทศสวมสิทธิ์ กุอีกนายทุนตุนยางแล้วใช้มวลชนกดดัน “เด็จพี่” ปัดพัลวัน รัฐไม่ใช่ความรุนแรง ขู่คนปล่อยข่าวปั่นป่วน-ประชาชนแตกแยกใช้ พ.ร.บ.คอมพ์จับ

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ (โฆษกเศรษฐกิจ) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ปักหลักปิดถนน และทางรถไฟที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องการชุมนุมของเกษตรกรสวนยางที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปดูแลราคายางพาราในขณะนี้ โดยได้มีการสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยาโดยด่วน โดยให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาในส่วนของมาตรการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นายวิม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯยังได้มอบหมายให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาเรื่องแนวทางการลดต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกร ทั้งในส่วนของปุ๋ยและแนวทางการจัดเกษตรโซนนิง รวมไปถึงเรื่องราคายางที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคา 100-120 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในส่วนนี้ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แตกต่างจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะยางมีผลผลิตออกมามาทุกวัน แต่ข้าวมีผลผลิตออกมาเป็นฤดูกาล หรือ 4-5 เดือนจึงได้ผลผลิตครั้งหนึ่ง

นายวิม ยังได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งในวงกว้าง นอกจากการขนส่งสินค้าแล้ว ล่าสุดทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แจ้งว่าผู้โดยสารที่จะเดินทางไปทางภาคใต้ได้แจ้งยกเลิกตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยนายกฯได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางออกและจุดที่ลงตัวร่วมกัน รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและยาว ยอมรับว่า เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนจริงในเรื่องราคาขายยาง แต่ก็ต้องมีการพิจารณารอบคอบ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะยางพาราถือเป็นสินค้าทางการเกษตรอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนี้

โฆษกเศรษฐกิจ กล่าวต่อไปว่า ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยทำให้ราคายางสูงถึง 120-140 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีมาตรการร่วมกันของประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อควบคุมจำนวนผลผลิตและการส่งออกยาง ดังนั้นในวันนี้อาจจะต้องกลับมาพิจารณาความร่วมมือดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้ราคายางกลับมาดีเหมือนเดิม เพราะหลังจากราคายางในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้มาตรการควบคุมขาดความต่อเนื่อง และผลผลิตยางจึงสูงอย่างไร้การควบคุม เฉพาะในประเทศไทยมีการปลูกยางถึง 18-19 ล้านไร่ทั่วประเทศ ราคายางจึงตกต่ำ

“ถ้ารัฐบาลไปอนุมัติให้มีการประกันราคายาง 100-120 บาทต่อกิโลกรัม ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม อาจเกิดปัญหาในการนำยางจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ เพื่อเอาราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด เพราะตอนนี้มีรายงานว่าในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผู้ประกอบการยางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก และมาใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลประกันในราคาที่สูง หารัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา” นายวิม ระบุ

อีกด้านหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการปล่อยข่าวทางโลกโซเชียลมีเดีย ว่ารัฐบาลจะสลายการชุมนุมกลุ่มเกษตรกรผู้ชุมนุมที่รวมตัวประท้วง ที่จังหวัดนครศรีธรมราช สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำเเหงที่มายื่นเเถลงการณ์ที่มีความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะรัฐบาลไม่มีกระบวนการในการยับยั้งการชุมนุมด้วยความรุนแรง เพราะรู้ว่าเป็นสิทธิตามตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลขอวอนให้ผู้ชุมนุมทำตามระเบียบกฎหมาย และสะท้อนความเดือดร้อนออกมา โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เพราะขณะนี้เริ่มมีชาวบ้านผู้ใช้เส้นทางในการเดินทางทางภาคใต้ เดือดร้อนไม่สามารถใช้เส้นทางได้ทั้งรถยนต์และรถไฟ เนื่องจากการปิดถนนของผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการส่งผลเสียต่อด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอย่างมาก การปิดถนนถือเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงในการละเมิดกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ที่ปล่อยข่าวเท็จบิดเบือนสร้างความปั่นป่วนและแตกแยกให้ประชาชน รัฐบาลจะตรวจสอบเเละดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงษ์ กล่าวถึงการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาชี้มูลความผิด นายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาธิการ ปรส.ว่ามีความผิดจริงในคดี ปรส.นั้น สะท้อนให้เห็นได้อย่างดีว่าในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีการดำเนินการขายสินทรัพย์ ที่อาจเรียกได้ว่าสมบัติของชาติ ให้กับต่างชาติในราคาถูก สร้างความเสียหายในเเก่ประเทศชาติอย่างมาก จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.เเสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ


กำลังโหลดความคิดเห็น