ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่าบรรยากาศในสภาจะปั่นป่วนวุ่นวายสักแค่ไหน หรือว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำทุกทางในการขัดขวางไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับได้นานแค่ไหนก็ตาม ต่อให้ด่าประธานสภาผู้แทนราษฎร สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และประธานวุฒิสภา นิคม ไวรัชพานิช ว่าเป็น "ขี้ข้าทักษิณ"ประจานได้เสียงดังแค่ไหนก็ตาม แต่ทำได้เพียงแค่ "ยื้อถ่วงเวลา"เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้วทุกอย่างมีการกำหนดเอาไว้แล้ว มีคำตอบล่วงหน้าเอาไว้แล้วด้วย "ตัวเลขทางคณิตศาสตร์"ใช้เสียงข้างมากลากไปตามเป้าหมายที่ต้องการวันยังค่ำ
ในที่สุดแล้ว ทั้งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ร่าง และอาจรวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับที่คาอยู่ในสภาก็อาจ"ลุยถั่ว"โหวตกันในวาระสามไม่ต้องสนใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นได้
นี่ยังไม่นับเรื่องเงินเรื่องทองที่กำลังฉุดกระชากลากถูกันแบบเอาเป็นเอาตายอยู่ในขณะนี้ทั้ง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 57 ที่กำลังพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ และคิวสำคัญต่อเนื่องนั่นคือ "โคตรกู้" อีก 2 ล้านล้านบาท ที่กำลังจ่อเข้ามาติดๆ ทุกเรื่องล้วนสำคัญยิ่งยวดต่อ "ระบอบทักษิณ" ที่ขับเคลื่อนโดยรัฐบาล "หุ่นเชิด" ที่นำโดย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกเรื่องกำลังงวดเข้ามาทุกทีแล้ว จนหลายคนเกิดอาการเครียดว่า จะมี "จุดจบ"อย่างไรกันแน่
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศภายนอกเวลานี้ถือว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ นั้นสภาพ "ไม่สด"แบบเดิม แต่ถ้าจะบอกว่าอยู่ในช่วง "ขาลง"ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะแม้ว่าจะต้องเจอกับภาวะ "ถดถอย"ในทุกเรื่อง ทั้งของแพง สินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่งพรวด แต่ถ้าลองฟังเสียง "ฝ่ายคนเสื้อแดง"ที่เคยเชียร์ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มานานก็ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนใจ บางคนก็ยังยอมตายเพื่อทักษิณ และยังสู้ให้คนในครอบครัวนี้ได้ร่ำรวยมีอำนาจต่อไป แต่ก็มีเหมือนกันที่เริ่มเฉยๆ กระอักกระอ่วน จะด่าจะชมก็พูดไม่เต็มปาก เอาเป็นว่าพวกนี้"เริ่มไม่เหมือนเดิม" แต่จะให้เปลี่ยนหักมุมกระทันหันก็คงทำใจยาก ต้องให้เวลาเพิ่มความเจ็บปวดอีกสักพักหนึ่ง
อย่างไรก็ดีสิ่งที่รับรู้ก็คือแม้ว่าเปลี่ยนใจไม่รักไม่ชอบรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน ถามว่าในขณะนี้บรรยากาศความรู้สึกไม่ชอบ หรือรัฐบาล "ขาลง" ก็ตาม แต่สำหรับคนในภาคอีสานเท่าที่ได้สัมผัส กลับยังพบว่ายังไม่เคยเห็นว่ามีใครชื่นชมฝ่ายค้านเลย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าหากไม่นับรวมเอาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่"รังเกียจนักการเมือง"แล้วก็ต้องบอกว่ามันตกผลึกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเพื่อไทยกับฝ่ายประชาธิปัตย์ ซึ่งระยะเวลาผ่านมาเพียงแค่ 2 ปีอาจจะไม่อาจ"ละลาย" ความรู้สึกได้ดี ต้องให้พบกับความเจ็บปวดจากความ "ล้มเหลวห่วยแตก"จากระบอบทักษิณ ไปอีกสักระยะหนึ่ง น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้ บางครั้งต้องให้เรียนรู้ความเจ็บปวดด้วยตัวเอง อย่าไปขัดขวางบิดเบือน เพราะบางครั้งกลายเป็นว่าไปสร้างเงื่อนไขเป็นข้ออ้างเพิ่มความเข้มแข็งให้อีกฝ่าย เหมือนอย่างที่ ระบอบทักษิณ ทำสำเร็จมาตลอด
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากอารมณ์ ของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเจ้าของทั้งรัฐบาล และ สส.ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแทบทั้งหมด ก็คงต้อง"เร่งลงมือ"ให้เร็วที่สุด รวบรัดที่สุด เพื่อให้เป้าหมายที่วางเอาไว้ไม่สะดุด เพราะยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานออกไปเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลในทุกเรื่องเริ่มปรากฏออกมาให้เห็น
อย่าได้แปลกใจที่ได้เห็นอาการที่เรียกว่า "ต้องเอาให้ได้" เพราะแต่ละเรื่องถือว่าเป็น "วาระสำคัญยิ่งยวด" ทั้งต่ออนาคตทางการเมืองในวันหน้า อันเป็นผลจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การใช้งบประมาณ การใช้เงินจากร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทุกเรื่องถือว่าสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย แต่ขณะเดียวกัน เมื่อ "เร่งเกม"กันแบบนี้อีกด้านหนึ่งมันก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการ "ปรอทแตก"ได้เหมือนกันเพราะ ทำให้สังคมเครียดสะสม เพิ่มอารมณ์โกรธจนทนไม่ไหวก็เป็นไปได้ตลอดเวลา เพราะเวลานี้สภาพของรัฐบาลไม่เหมือนเดิม คนไม่ชอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนับวันอัตราเร่งจะแรงขึ้น ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง "ของแพง"ได้ และยิ่งเดือนหน้า"ราคาก๊าซหุงต้ม"จะทยอยขึ้นไปอีกเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม(ย้ำว่าต่อกิโลฯไม่ใช่ต่อถัง)ไปจนถึงสิ้นปี ลองหลับตานึกภาพเอาก็แล้วกันว่า"ราคาข้าวราดแกง"จะปรับไปอีกจานละเท่าไร
ด้วยภาวะตึงเครียดแบบนี้แหละ ยิ่งอยู่นานยิ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายรัฐบาลแน่นอน ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่ "เร่งเกม"ผิดปกติ โดยเฉพาะความพยายามลากเอากฎหมายสำคัญ ทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างนิรโทษกรรม ร่างงบประมาณ และ กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะต้องเร่งให้ผ่านสภาให้หมดภายในปลายปีนี้ เพื่อหลังจากนั้นก็มีเวลาคิดหาจังหวะยุบสภา เพราะถ้าสังเกตเวลานี้เริ่มมีการโยกย้ายข้าราชการกับแบบ"กระชับพื้นที่"กันแล้ว เริ่มจากกระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งโยกสลับระดับซี10 ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสำคัญ อธิิบดีกรมการปกครอง และยังมีอีกล็อตใหญ่เดือนกันยายน แต่เท่าที่เห็นมันก็เห็นสัญญาณยุบสภา "ตัดเกม"เพื่อกลับมาใหม่ได้ชัดเจนขึ้นทุกทีแล้ว !!