xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแล้วชำเรา รธน.ที่มา ส.ว.มาตรา 2 ใช้ทันทีหลังลงประกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมรัฐสภาสภาลงมติ 349 ต่อ 157 เสียง มาตรา 2 ประกาศใช้ร่างแก้ไข รธน.เรื่องที่มา ส.ว.ทันทีที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา “รสนา” แย้ง เสนอใช้หลังประกาศ 1 ปี “สมเจตน์” ย้ำ ส.ว.จะกลายเป็นสภาผัวเมีย

วันนี้ (21 ส.ค.) การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.ในวาระ 2 โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณามาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้ โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายว่า การจะออกกฎหมายอะไรนั้นต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดกัรเป็นสำคัญ การปฎิบัติหน้าที่ของสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่หากเรามีผลประโยชน์และอคดิเข้ามาร่วมในการร่างกฎหมายก็จะเป็นการทำลายหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน การที่เราเป็น ส.ว.และมานั่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้นั้น เราจึงมีส่วนได้ส่วนเสียจะทำให้หลักกฎหมายที่ออกมาขาดหลักนิติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เรากำลังจะแก้นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้กับ ส.ว.อย่างมาก จนทำให้ ส.ว.กับ ส.ส.กลายเป็นหน่วยเดียวกัน ตนจึงขอเสนอให้มีผลบังคับใช้ร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้หลักจากการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 1 ปี นับจากวันที่มีการประกาศ

ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.โดยตัดเงื่อนไขที่ห้ามพ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว.ได้ ทำให้อาจเกิดประเด็นผลประโยชน์ที่เอื้อซึ่งกันและกัน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้กำหนดห้ามเงื่อนไขดังกล่าวไว้ชัดเจนเพื่อป้องกันเรื่องสภาผัวเมีย ส่วนการดำรงตำแหน่ง ในร่างฉบับนี้คือไม่มีการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมานั้นล้วนแต่มีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ ซึ่งการแก้กฎหมายเช่นนี้ จะทำให้ ส.ว.มีการเอาเปรียบและมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ส่วนตัว การเว้นระยะเอาไว้ก่อนเพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆน่าจะเหมาะกว่าการนำมาใช้ทันที

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานรณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ตามเสียงส่วนมากขอยืนตามร่างของกรรมาธิการ หากผ่านการลงมติในวาระ 3 แล้วก็ต้องมีการประกาศใช้ใน กรรมาธิการก็มีความเห็นว่าต้องบังคับใช้ในวันถัดไปทันที ตามจารีตธรรมเนียม ประเพณีที่เคยปฎิบัติมา ส่วนกรณีที่กลัวว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการลาออกจาก ส.ว.สมัยปัจจุบัน ไปลงสมัครรับเลือกตั้งทันทีนั้น ตนคิดว่าการลงสมัตรรับเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นทันที ซึ่งก็ต้องมีการตัดสินใจของประชาชนร่วมด้วยเช่นกัน และการที่อาจจะมีการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตนคิดว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

จากนั้น น.ส.รสนาจึงตอบโต้ว่า สิ่งที่นายสามารถชี้แจงนั้นไม่สามารถครอบคลุมสิ่งที่ตนได้อภิปรายได้ตนจึงขอเตือนสมาชิกรัฐสภาทุกคนว่า หากมีการลงมติเห็นชอบกับเรื่องนี้ อาจเป็นการกระทำ มาตรา 270 และ 275 ในเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและอาจถูกร้องจากประชาชนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตนเป็นคนหนึ่งทีได้รับผลประโยชน์ ซึ่งมั่นใจว่าหากลงรับสมัครเลือกตั้งตนก็จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างแน่นอน แต่เราไม่ควรเห็นแก้ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

จากนั้นนายสมศักดิ์ได้สั่งให้ที่ประชุมลงมติในมาตรา 2 ผลที่ออกมา คือ มีผู้เห็นด้วย 349 ต่อ 157 เสียง








กำลังโหลดความคิดเห็น