อภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ พัฒนาสังคม-เกษตรฯ ส.ส.ปชป.ชำแหละอุโมงค์ส่งน้ำแม่กวง-แม่งัด เชียงใหม่ ไม่สมเหตุผล ด้าน “หมอวรงค์” ชี้เจ้าหน้าที่ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ตรงกับที่ชาวนาหว่านข้าว “นริศ” ถามกรมปศุสัตว์ของบ 5 พันล้านสำคัญหรือไม่ แนะกรมชลฯ เลิกสร้างเขื่อนยักษ์
วันนี้ (16 ส.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 วงเงินงบประมาณ 2,525,000,000,000 บาท ได้เริ่มพิจารณามาตรา 10 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วงเงิน 10,324,657,800 หลังจากที่ กมธ.ปรับลดวงเงินลง 560,215,400 บาท โดย ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลส่วนใหญ่ต้องการให้กระทรวงเข้าไปดูแลคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุ ที่นับวันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และเร่งแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศไทยด้วย แต่ที่ประชุมสภาฯได้ผ่านมาตรา 10 โดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากไม่มีสมาชิกติดใจ
ส่วนมาตรา 11 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 76,840,910,200 บาท นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ ส.ส.กทม.ปชป. อภิปรายขอปรับลดงบประมาณของกรมชลประทานลง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนของโครงการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ระหว่างเขื่อนแม่กวง-แม่งัด พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ และเพื่อการเกษตร ที่เสนอของบจำนวน 6,000 ล้านบาท เนื่องจากพบว่าไม่มีความสมเหตุสมผล อีกทั้งตนได้ลงพื้นที่สำรวจเขื่อนแม่กวง และเขื่อนแม่งัด พบว่ามีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับโครงการพัฒนาเขื่อนแม่กวง, เขื่อนแม่งัด เดิมกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีสมัยพรรคประชาธิปัตย์ โดยตั้งวงเงินไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรับบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้น อีก 2,150 ล้านบาท เป็นงบผูกพันจำนวน 4 ปี ทั้งที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการ โดยได้ข่าววงในว่ามีการเจรจากันอยู่
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก อภิปรายว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือว่าเป็นต้นน้ำของโครงการรับจำนำข้าว แต่ขณะนี้มีปัญหาที่ จ.พิษณุโลก ที่ชาวนาหว่านข้าวในเดือน พ.ค. แต่เจ้าหน้าที่ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ตรงกับที่ชาวนาหว่านข้าว ทำให้ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา 15,000 บาทต่อตัน ดังนั้นขอให้ทางกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ตรงกับช่วงเวลาที่ชาวนาหว่านข้าวด้วย และการจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งจะส่งผลให้ชาวนาไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว รัฐจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร
ด้านนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ขอให้ปรับลงงบลง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่ขออนุมัติงบฯ กว่า 5 พันล้านบาท ได้ซักถามภารกิจที่สำคัญหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการดูแลช้างด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีช้างบ้านกว่า 3 พันเชือก และช้างป่าอีก 3 พันตัว ทำไมกรมปศุสัตว์ถึงทำตั๋วรูปพรรณช้าง และฝังไมโครชิปช้างบ้านแค่ 3 พันเชือก ไม่เสร็จเสียที ส่วนกรมวิชาการเกษตรที่ขออนุมัติงบฯ 4,000 ล้านบาทในเรื่องการรมข้าว ได้เข้าไปควบคุมกำกับโกดังในการรมข้าวหรือไม่ และกรมชลประทานที่ขออนุมัติงบฯ ถึง 40,000 หมื่นล้านบาท ตนขอให้มีการยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์มากไปกว่าแหล่งรับน้ำขนาดเล็ก