กมธ.วิฯ แก้ รธน.ที่มา ส.ว.นัดสุดท้าย มี 57 ส.ส.ขอสงวนแปรญัตติตัดทุกมาตราทิ้ง คง ส.ว.สรรหา หลังสรุปให้เลือกตั้งหมด 200 คน ให้โคตรเหง้า ส.ส.ลงสมัครได้ พร้อมแช่แข็งอำนาจสรรหาห้ามถอดนักการเมือง ชงวาระต้นสัปดาห์หน้า
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตรา 117, มาตรา 118, มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เป็นนัดสุดท้าย ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรายงานของ กมธ. ก่อนส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ในต้นสัปดาห์หน้าเพื่อให้นายสมศักดิ์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งมีร่างแก้ไขมีสาระสำคัญดังนี้ คือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเว้นวรรค หากลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถมาลงสมัครได้ทันที ทั้งเปิดโอกาสให้ คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถมาลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ นอกจากนี้ให้ ส.ว.สรรหา อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระที่เหลืออยู่ แต่ในช่วงที่มีการเลือก ส.ว.ที่มาจาการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ระหว่างนี้ก็ให้จำกัดอำนาจของ ส.ว.สรรหา โดยไม่สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
ทั้งนี้ นายสามารถกล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.มีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 202 คน แต่ในจำนวนนี้มีผู้สงวนคำแปรญัติจำนวน 57 คนที่ขอแปรญัตติขัดต่อบังคับการประชุมรัฐสภา มาตรา 96 วรรค 3 เพราะขอแปรญัตติตัดทุกมาตราทิ้ง รวมทั้งให้ ส.ว.มาจากการสรรหาเหมือนเดิม ซึ่งขัดต่อหลักการที่รับมา คือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ตนเห็นว่าควรจะนำคำแปรญัตติที่ขัดข้อบังคับของทั้ง 57 คนใส่ไว้ในรายงาน และให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าจะงดเว้นข้อบังคับฯ ให้ทั้ง 57 คนสามารถอภิปรายได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการบางคนก็เห็นว่าไม่ควรส่งคำแปรญัตติของทั้ง 57 คนไปยังรัฐสภา เพราะถือว่าผิดหลักการ และหากให้อภิปรายอีกก็จะเป็นการอภิปรายซ้ำเหมือนในวาระรับหลักการ ก็จะยิ่งเสียเวลา เพราะแค่นี้ก็มีคนขอแปรญัตติมากอยู่แล้ว