4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์จี้ กสทช. ระงับนำร่างคุมเนื้อหารายการวิทยุโทรทัศน์เข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ลั่นต้องยกร่างใหม่่ก่อน โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเสนอความเห็นตั้งแต่ต้น หากยังเมินจะคัดค้านอย่างรุนแรง
วันนี้ (18 ก.ค.) 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ของ กสทช. ความว่า
แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ
เรื่อง คัดค้านร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ของ กสทช.
สืบเนื่องจาก ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนและแก้ไขการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ... เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันจะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างน้อย ๕ มาตรา
โดยมีความเห็นว่า กสทช.กำลังขยายขอบเขตอำนาจในการกำกับดูแลสื่อมวลชนเกินกว่ากฎหมายให้อำนาจไว้ และ กสทช. ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้เสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาทบทวนแก้ไข (ร่าง) ประกาศดังกล่าวอย่างรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างฯ ก่อนนำออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมาย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง โดยหาก กสทช. เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กรที่มีสมาชิกเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำหรือยกร่างประกาศนั้น
หลังจากที่ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว ต่อมา ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้รับหนังสือเชิญประชุมกลุ่มย่อย (focus group) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ จาก กสทช. ให้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖) ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นก่อนการประชุมกลุ่มย่อย ตัวแทน ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้สอบถามถึงกระบวนการ ขั้นตอน และความเป็นไปได้ในการนำความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาปรับปรุงการจัดทำหรือยกร่างประกาศก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ประธานในที่ประชุม พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ ชี้แจงว่า การจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... เพราะ (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ ได้ผ่านมติความเห็นชอบ ของ กสทช. ให้นำออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้วเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แต่ กสทช. จะรับไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเช่นเดียวกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะจัดให้มีขึ้นอย่างเปิดเผยตามมติของ กสทช. ต่อไป
๔ องค์กรวิชาชีพสื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างประกาศอย่างแท้จริงตามที่ได้แสดงเจตนาไว้แต่ต้นกับ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบกับการปรับแก้ไข (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่ต้องเริ่มต้นยกร่างใหม่ด้วยการทำความเข้าใจในหลักการและวิธีปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน กลไก และกระบวนการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อและสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างเป็นอิสระ การสร้างความเข้มแข็งและการรู้เท่าทันสื่ออย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงภาพรวมทั้งระบบ
หาก กสทช. ยังคงยืนยันนำร่างประกาศฉบับดังกล่าวนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อจะคัดค้านอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นร่างประกาศที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในการได้รับข้อมูลข่าวสาร อันอาจนำพาประเทศไทยกลับไปสู่ยุคของการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคของเผด็จการรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา
๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงขอยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนการนำร่างประกาศที่ผ่านมติของ กสทช. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จากนั้น เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล หลักการ ความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างฯ อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำให้ร่างประกาศฉบับนี้มีสภาพบังคับใช้เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ กำกับดูแลสื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิผล และนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมโดยรวมต่อไป
ทั้งนี้ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคัดค้านการจัดทำร่างประกาศที่มีกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้ต่อ กสทช. ต่อไป
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ