“ปู” ร่วมแถลงสรุปภาพรวมพัฒนา บุรีรัมย์-สารคาม เล็งบูรณาการจัดการน้ำ ร่วมกับ กบอ. ปรับโซนนิ่งเกษตร ยกบุรีรัมย์พื้นที่เหมาะทำข้าวเกษตรอินทรีย์ สารคามเด่นอาหารและเครื่องดื่ม หนุนใช้ความสามารถบัณฑิตในจังหวัด ส่งเสริมปศุสัตว์-วิจัยพันธุ์ข้าว-พลังงานมูลสัตว์ หวัง ม.สารคาม ผลิตแพทย์เป็นศูนย์กลางสุขภาพ หวังลงพื้นที่ดูปปัญหาทุก จว. พรุ่งนี้เชิญผู้ว่าฯ ถกทูตอาเซียน รับ AEC สภาพัฒน์แจง 4 กลุม จว.ที่นายกฯ ลงพื้นที่
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงแรมตักสิรา จ.มหาสารคาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงสรุปภาพรวมภายหลังการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ และมหาสารคาม ว่าการลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดต้องการบูรณาการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนำยุทธศาสตร์ประเทศลงพื้นที่เพื่อบูรณาการร่วมกับจังหวัด ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ถือว่าเป็นพื้นที่การเกษตร แต่พบว่าขาดน้ำ ดังนั้นจะต้องจัดแผนพัฒนาบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับทางคณะกรรมการบริหารจัดน้ำและอุทกภัย พร้อมกับปรับโซนนิ่งภาคการเกษตรให้เหมาะสม โดยจุดเด่นของจ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟ 5 อำเภอ สามารถทำข้าวเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการปลูกข้าวพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวจิ๊บ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้ามาดูแล
นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับ จ.มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตบัณฑิตได้สูงสุดถ้าเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง แต่จังหวัดยังไม่ได้ใช้ความสามารถของมหาวิทยาลัยในการสร้างรายได้ให้กับ จ.มหารสารคามมากขึ้น รัฐบาลจึงเสนอให้กลับไปดูกระบวนการเสริมให้บัณฑิตจบใหม่สามารถต่อยอดกับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนด้านการเกษตร จะส่งเสริมด้านการปศุสัตว์และการวิจัยพันธุ์ข้าว โดยใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยไปช่วยกระทรวงเกษตรในการให้ความรู้อบรมเบื้องต้น คัดสรรพันธุ์ข้าวต่างๆ ให้ได้การรับรองพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐานการทำการเกษตรที่มีผลผลิตคุณภาพ หรือเจเอพี จากกรมข้าว พร้อมกันนี้จะเน้นการส่งเสริมด้านพลังงานจากมูลสัตว์ กากมัน หรือขยะชีวมวล ขณะเดียวกันได้ให้กระทรวงสาธารณสุขไปดูเรื่องการผลิตแพทย์พยาบาลของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีจำนวนมาก เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพ เพื่อให้ต่อเนื่องกับนโยบายรัฐบาลที่วางไว้
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า การวางยุทธศาสตร์จังหวัดต้องทำพื้นที่กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดด้วย เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกันให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศ และถ้าเป็นไปได้ตนอยากลงพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและนำมาทำงานร่วมกับสภาพัฒน์และจังหวัด เพื่อวางแผนการทำเวิร์คช็อปต่อไป และการปรับยุทธศาสตร์ของแต่ละพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ และจะต้องมีการทบทวนแผนทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี สำหรับการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเพื่อเข้าสู่อาเซียนนั้น ในวันที่อังคารที่ 16 ก.ค.ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมร่วมกับทูตอาเซียนเพื่อให้รู้ว่าอาเซียนมองไทยอย่างไร และไทยต้องการอะไร ดังนั้นยังมีงานที่ต้องทำอีกมากที่จะต้องลงจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่
ด้านนายอาคมได้อธิบายเพิ่มถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติว่า การพัฒนาจังหวัดมีทั้งหมด 18 กลุ่ม ซึ่งยุทธศาสตร์ประเทศมี 4 ด้าน รวมถึงประชาคมอาเซียน และการจัดโซนิ่งการเกษตร ดังนั้นการที่นายกฯลงพื้นที่จะแบ่งประเทศจังหวัดออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. เรื่องเกษตร 2. เมืองชายแดน 3. เมืองท่องเที่ยว และ 4. เมืองที่มีโอกาสเติบโตเป็นศูนย์กลางธุรกิจ