ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องอดีต ส.ว.ขอให้วินิจฉัยการกระทำของตัวเอง กรณีประธานสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ชี้คำร้องมีเงื่อนไข พร้อมสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 2 ส.ว.
วันนี้ (26 มิ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าที่ประชุมมีมติสั่งไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภากับคณะ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ จากกรณีที่นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภาได้มีหนังสือแจ้งว่ารับทราบกับการที่นายเรืองไกร ยื่นหนังสือสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 แล้ว ซึ่งนายเรืองไกรเห็นว่าน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา ที่ร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 มาตราดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ตามคำร้องเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาล ที่กล่าวอ้างในคำร้องว่าหากการกระทำของนายเรืองไกร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งแล้ว การกระทำของนายสมศักดิ์ในฐานะประธานรัฐสภาที่รับทราบข้อความตามหนังสือดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งด้วย คำร้องนี้จีงเป็นคำร้องที่มีเงื่อนไข โดยการวินิจฉัยว่าการกระทำของนายสมศักดิ์จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของนายเรืองไกร ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ คำร้องดังกล่าวจึงขาดความชัดเจนว่าผู้ถูกร้องกระทำการที่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และเป็นคำร้องที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย 2550 ข้อ 18 (3) (4)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ และนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ ที่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการที่ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา 312 คนเข้าชื่อร่วมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ และมีคำสั่งให้นำคำชี้แจงของบุคคลทั้งสองรวมไว้ในสำนวน