“ชวนนท์” ทบทวนความจำนายกฯ เปลี่ยน รมต.แจงจำนำข้าวบ่อย ยันรัฐเสียหายเหตุไม่แก้ปัญหา แถมไม่เข้าประชุม กขช.อีก ทั้งที่เป็นประธาน ปฏิเสธความรับผิดชอบชัด ด้าน “มัลลิกา” แฉชาวนาพิจิตรถูกโก่งค่าข้าวจากโรงสีนับพันตัน แถมพบโรงสีถูกขึ้นบัญชีดำสมัยรัฐบาลทักษิณด้วย
วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวลำดับเหตุการณ์ปัญหาโครงการจำนำข้าวว่า ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนผู้ชี้แจงบ่อยจนนายกฯ คงจำไม่ได้ให้ใครชี้แจงบ้างจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปลี่ยนมาเป็นนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาจนถึงล่าสุดนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งยืนยันว่าตัวเลขขาดทุนมีอยู่จริง และนายกรัฐมนตรีเห็นแล้วแต่แกล้งทำเป็นไม่เห็นหรือไม่อ่าน โดยโยนเผือกร้อนเหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรีให้คนอื่นมารับผิดชอบแทน และทำตัวเหมือนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของ รมว.และรมช.พาณิชย์ ทั้งที่เป็นความเสียหายจากนโยบายของนายกและพรรคเพื่อไทย รมว.และรมช.พาณิชย์เป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติ
นายชวนนท์กล่าวว่า ทั้งนี้ความเสียหายจึงไม่ใช่ความผิดพลาดของรัฐมนตรีหรือข้าราชการแต่เกิดจากการกำหนดนโยบายของนายกฯที่ไม่มีการป้องกันและแก้ปัญหา อีกทั้งนายกฯ ยังไม่ยอมประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ที่จะมีการประชุมในวันนี้ ทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญเป็นวิกฤตประเทศที่คนไทยทั้งชาติอยากได้รับฟังการชี้แจงจากปากนายก แต่นายกฯ เลือกที่จะละทิ้งการประชุมนี้ทั้งที่เป็นประธาน กขช.โดยตำแหน่ง ในวันที่การประชุมนี้จะมีการรายงานเกี่ยวกับปัญหาการขาดทุนในโครงการจำนำข้าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการปฏิเสธความรับผิดชอบ แล้วคนไทยจะไว้ใจให้บริหารประเทศต่อไปได้อย่างไร เพราะนายกฯ เอาแต่หนีความจริง ปฏิเสธความรับผิดชอบ แสดงถึงความไม่พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกต่อไป
นายชวนนท์ได้นำตัวเลขการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวมาประกอบการแถลงข่าว โดยระบุถึงการขาดทุนของการรับจำนำข้าวใน 3 ฤดูกาลว่ามียอดรวม 220,967 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการข้าวนาปี ปี 54/55 จำนวน 42,963 ล้านบาท โครงการข้่าวนาปรัง ปี 54/55 จำนวน 93,933 ล้านบาท และโครงการข้าวนาปี ปี 55/56 จำนวน 84,071 ล้านบาท ซึ่งมีการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 ม.ค. 56 แต่คาดการณ์ว่าจะมีความเสียหายเพิ่มอีกเดือนละประมาณหมื่นล้านบาท และยังมีค่าบริหารจัดการอีก 4 หมื่นล้านบาท รวมแล้วคาดว่าน่าจะขาดทุนราว 260,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงไม่ควรเบี่ยงเบนว่าตัวเลข 260,000 ล้านบาทว่าไม่อยู่ในรายงาน เพราะมีความชัดเจนในหลักการคำนวณอยู่แล้ว ที่ต้องตั้งคำถามคือ ทำไมกลายเป็นว่าเอกสารนี้ฝ่ายค้านและประชาชนเห็น แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลไม่เห็น ทำเสมือนกับว่าขณะนี้นายอภิสิทธิ์เวชชชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นฝ่ายค้านที่ไม่มีข้อมูล จึงขอเรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับตัวกลับใจเข้าร่วมประชุม กขช.เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาในฐานะเป็นผู้นำประเทศ อย่าใช้วิธีวิ่งหนีเพื่อกลบปัญหา แต่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมืองที่พรรคเพื่อไทยคิดประเทศไทยพัง
ทางด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรจังหวัดพิจิตรประมาณ 1,000 ราย ที่ถูกโรงสีโกงค่าข้าวนับพันตัน จากการนำข้าวไปเข้าโครงการแต่ไม่ได้ทั้งใบประทวนและเงิน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการปลูกข้าวและเป็นหนี้สินเพิ่ม โดยเกษตรกรเหล่านี้จึงไม่ได้รับเงินจำนำข้าวแม้แต่บาทเดียว เมื่อวงจรการจำนำเป็นแบบนี้ก็จะมีปัญหาว่าหากรัฐไม่ช่วยแก้ปัญหาก็จะคล้ายๆ กับกรณีที่พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ที่ถูกโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจำนำของรัฐบาลเอาข้าวไปเวียน ทุจริต และโกงเกษตรกรทำให้ต้องไปฟ้องแพ่งดำเนินคดีกับโรงสีเอาเอง ซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ก่อน
น.ส.มัลลิกากล่าวว่า นอกจากนี้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการ คือ โรงสีแอลโกแมนูเฟคเจอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โรงสีนี้ชื่อเก่าคือ ก้องเกียรติ เป็นของเสี่ยคนหนึ่งมีประวัติปี 48-49 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ถูกขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ว่าโกงชาวนา และในรัฐบาลนี้แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อ ผู้รับธุรกรรมยังเป็นคนเดิม อีกทั้งยังมีพฤติกรรมซ้ำรอยในสิ่งที่เคยโกงชาวบ้านในปี 48-49 ด้วย และเมื่อตรวจสอบไปยังจังหวัดพิจิตรก็พบว่ามีความพยายามแก้ปัญหา แต่โรงสีอ้างว่าไม่มีสิบล้อไปส่งข้าว ซึ่งข้อมูลจากชาวนายืนยันว่าคงไม่ได้รับใบประทวนเพราะโรงสีนี้ไม่มีข้าวแล้วเนื่องจากนำข้าวไปเวียนเทียน ออกจำหน่าย และมีความตั้งใจที่จะโกงชาวนา โดยล่าสุดมีตัวแทนโรงสีท้าให้ไปแจ้งความดำเนินคดีด้วย จึงเห็นว่าภาครัฐไม่ควรปล่อยให้คดีแบบนี้เกิดขึ้น แต่ต้องไปช่วยเกษตรกรก่อนเป็นอันดับแรก และขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือนายวราเทพ ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลเรื่องจำนำข้าว นำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนด้วย