รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งคณะกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นายกฯ นั่งประธานวาง 3 ยุทธศาสตร์หลักหวังลดภัยความมั่นคงประเทศ ดึงกลาโหม-สตช.ร่วม พร้อมจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญโลกไซเบอร์โลกสัปดาห์หน้า เชิญ “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นโพเดียมเปิดงาน “ธีรัตถ์” โวคนไทยใช้เน็ตมากขึ้น หลังชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.45 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า จากสถานการณ์ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนไปถึงความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดระบุว่าคนไทยกว่าร้อยละ 40 เข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ โดยมีหน้าที่หลักในการจัดทำนโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือจากความเสี่ยงด้านภัยคุกคามไซเบอร์ อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ครอบคลุมถึงความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในวันนี้ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 1 ทางคณะกรรมการฯได้กำหนดร่างกรอบนโยบายยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ 1. การบูรณาการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ 2. การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 3. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์รอง 5 ด้าน ได้แก่ (1. การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (2. การสร้างความตระหนักและรอบรู้ (3. การพัฒนาระเบียบและกฎหมาย (4. การวิจัยและพัฒนา และ (5. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเป็นกรอบการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า
ในส่วนของการทำงานคณะกรรมการฯ นั้น จะมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการ และจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยมีศูนย์รักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ กระทรวงกลาโหม ผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ และมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นกำลังสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่ในส่วนของฝ่ายเลขานุการจะประสานงานกับคณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมา 6 ชุด ประกอบด้วย 1. อนุกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของราชอาณาจักร 2. ด้านการรับมือกับสถานการณ์ด้านความปลอดภัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต 3. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 4. ด้านการสร้างบุคลากร 5. ด้านการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 6. ด้านการวิจัยและพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายในการนำเสนอกรอบนโยบายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในไตรมาสหน้า
น.อ.อนุดิษฐ์เปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างวันที่ 16-21 มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม Annual First Conference ครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นการประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลก ที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้ และกำหนดแนวทางการป้องกันภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ร่วมกัน ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานและกล่าวเปิดงานในเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมคอนราด ถ.วิทยุอีกด้วย
ด้านนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ในระหว่างการประชุม นายกฯได้แสดงความห่วงใยว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นในการลดความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องรายได้ สังคม รวมไปถึงการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตจึงมีบทบาทเข้ามากขึ้น แต่ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นต่างก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากได้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์ หรือหลายคนใช้งานไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือกระทบความมั่นคงของชาติ ซึ่งนายกฯ ก็หวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทเข้ามาดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมด้วย