รองโฆษก ปชป.ติง พ.ร.บ.งบฯ 57 กู้แบบหลักลอยไร้เนื้อหา ชี้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน มีแผนจ่ายแค่ 1.7 แสนล้าน และมีแผนใช้เงินจนหมดอายุ พ.ร.ก.คือ มิ.ย.นี้ แนะลดงบไม่เกิน 2 แสนล้าน แต่ทำเฉย ชง กมธ.งบฯ สอบ หวั่นดันแนบทีโออาร์ผ่านให้ทันเดือนนี้ จี้ รบ.แจงประชานิยม 4 เรื่องคุ้มทุนหรือไม่ ได้ประโยชน์ทั่วถึงหรือไม่ กระบวนการเข้าถึงงบเป็นธรรมหรือไม่ เป็นภาระสถานะประเทศอย่างไร
วันนี้ (9 มิ.ย.) นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า กระบวนการใช้จ่ายเงินที่ผ่านมาในเรื่องงบเงินกู้แบบหลักลอยโดยไม่มีเนื้อหาโครงการ โดยเฉพาะงบ 3.5 แสนล้านบาท จากเงินกู้ตามพระราชกำหนด ซึ่งมีแผนการเบิกจ่ายเพียง 1.7 แสนล้านบาท และมีแผนใช้เงินจนถึงสิ้นสุดอายุ พ.ร.ก.เงินกู้เดือนมิถุนายน 2556 ให้ครบวงเงินกู้ จึงเห็นว่าเมื่อไม่มีความชัดเจนและยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ก็ควรปรับลดเงินกู้ลงมาไม่เกิน 2 แสนล้านบาท แทนที่จะกู้ให้ครบ 3.5 แสนล้านบาทตามกรอบในพระราชกำหนดเงินกู้ดังกล่าว แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล จึงประสานไปยังนายธนิตพล ไชยนันทน์ ประธานกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระบวนการตรวจสอบทำได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพราะจนถึงขณะนี้การใช้เงินยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด และเกรงว่ารัฐบาลจะอนุมัติการกู้เงินอย่างเร่งด่วนโดยใช้ทีโออาร์แนบแต่ไม่มีรายละเอียดโครงการเพื่อให้ทันกำหนดภายในเดือนมิถุนายน
นายณัฏฐ์กล่าวว่า จากการจัดสรรงบปี 2557 พบว่างบรายจ่ายประจำร้อยละ 80 งบลงทุนแค่ ร้อยละ 20 หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของ GDP เท่านั้น กระบวนการในการพัฒนาประเทศใช้เงินแค่ร้อยละ 20 ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ตามทิศทางที่ควรจะเป็นในเวลาที่่เหมาะสม โดยรัฐบาลพยายามรวบทุกอย่างไปจัดการเอง ทั้งการจัดสรรโครงการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่กระจายสู่ภาคเอกชน ดังนั้น จากงบลงทุนดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาอะไรได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล จึงขอให้กระจายการลงทุนสูภาคเอกชนให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้โครงการประชานิยม จำนำข้าว รถคันแรก นั้น ข้าราชการที่เข้ามาชี้แจงพูดถึง 4 หลัก คือ 1. ประโยชน์คุ้มทุนหรือไม่ แม้จะมีการออกมาโต้แย้งหรือพยายามแก้ต่างว่าโครงการไม่จบไม่สามารถระบุการขาดทุนได้ แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดชัดเจนแล้วว่าสามารถประเมินได้เป็นระยะ 2. มีการกระจายให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงหรือไม่ 3. กระบวนการเข้าถึงงบประมาณเป็นธรรมหรือไม่ มีใครกินหัวคิวหรือไม่ เงินตกส่วนไหน และ 4. เป็นภาระกับกระทรวงการคลังและประชาชนในระยะยาวมากน้อยแค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวนั้นตนเรียกร้องให้รมว.พาณิชย์ออกมาชี้แจงตาม 4 หลักการข้างต้น