xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรักษ์” ไม่รับงบฯ ปี 57 ชี้ล้มเหลวแก้ปัญหาปากท้อง ทำค่าครองชีพพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิรักษ์” รับไม่ได้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 57 ล้มเหลวแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ซ้ำเติมด้วยการเพิ่มภาษีน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ปรับค่าแรง ไม่คุมค่าครองชีพที่เพิ่ม เสนอ 5 ยุทธศาสตร์กาาเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ด้าน ส.ส.พท.สุพรรณฯ อวยรัฐบาลทำโครงการจำนำข้าว ชาวนาลืมตาอ้าปากได้

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ว่า ตนไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ๆได้ เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินการของรัฐบาล คือ 1. นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ข้าวของแพง ของกระทรวงพาณิชย์ อย่างโครงการร้านค้าถูกใจ ที่มีเป้าหมายขายสินค้าอุปโภคบริโภคถูกลงจากราคาปกติ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่ามีปัญหามาก เมื่อเทียบกับร้านโชว์ห่วย จะพบว่า ประชาชนไม่สามารถหาร้านค้าถูกใจได้ และราคาสินค้าไม่ได้ถูกกว่าราคาปกติ 20 เปอร์เซ็นต์ โครงการนี้ใช้เงินไปทั้งหมด 1,320 ล้านบาท แต่ล้มเหลวไม่สามารถแก้ปัญหาได้

นายอภิรักษ์ได้ยกผลการสำรวจสถาบันศึกษา ทั้ง 3 แห่ง โดยกรุงเทพโพลล์พบว่าพี่น้องประชาชนมีค่าใช้จ่ายจากการครองชีพเพิ่มขึ้นถึง 72% หาดใหญ่โพลล์พบว่าประชาชนมีค่าใช้จ่ายสูงเกือบ 10% ต่อรายได้แต่ละเดือน และเอแบคโพลล์พบว่าค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้นถึง 61% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

2. นโยบายตรึงราคาอาหารตามสั่ง เช่น ข้าวไข่เจียว กะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวมันไก่ เป็นต้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยได้มีการสำรวจดัชนีข้าวแกงที่ตลาดสดทั่วทุกภูมิภาคว่ามีการปรับราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้น โดยพบว่าไข่ไก่เบอร์ 3 จากฟองละ 3.50 บาท เป็น 3.70 บาทต่อฟอง

3. นโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน การปรับราคาก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี ส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคารถโดยสาร ที่พบว่าราคาน้ำมันและแก๊สยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมมีการปรับขึ้นราคาค่ารถโดยสาร ซึ่งทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนจากนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล

4. ล้มเหลวเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท และนโยบายรถคันแรก วันนี้รายจ่ายของประชาชนเฉลี่ยสูงขึ้น 15.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้เฉลี่ยของประชาชนสูงขึ้นเพียงแค่ 10.4 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยให้การช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิต ทั้งในเรื่องของค่าอาหารที่ต้องใช้เลี้ยงไก่และสุกร รวมถึงค่ายาและปุ๋ยให้มีต้นทุนในการผลิตลดลง 40%

นายอภิรักษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน รัฐบาลยังขาดความชัดเจน นอกจากการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ดังนั้นตนจึงอยากเสนอแนะรัฐบาล 5 เรื่องคือ 1. หามาตรการรองรับผลกระทบด้านสินค้าการเกษตร 2. แนวนโยบายส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฝีมือแรงงาน 3. แนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริการ 4. นโยบายส่งเสริม 7 สาขาวิชาชีพ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้แก่ หมอ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ และ5. นโยบายส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการค้าชายแดน

จากนั้นนายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยืนยันว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้าว 18 สายพันธุ์ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีพันธุ์เตี้ยมาเลเซีย ไม่ใช่เตี้ยสุพรรณ ตอนนี้ชาวนาได้เปลี่ยนสุภาษิตแล้วว่า “ทำข้าวนาปัง มีสตางค์และพื้นที่ นำข้าวนาปี มีแต่พื้นที่และสตางค์” ไม่เหมือนกับตอนประกันราคาข้าวที่มีสุภาษิตว่า “ทำข้าวนาปังมีแต่ซังกับหนี้ ทำข้าวนาปีมีแต่หนี้กับซัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น