เลขาฯ สมช.อ้างไฟใต้แรงโจรไม่อยากให้คุยต่อ เผยโจกบีอาร์เอ็นรับกล่อมเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ คาดถกรอบใหม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่ม ลั่นไม่ต้องหวนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม พร้อมตัดบึ้มหน้าราม เอี่ยวชายแดนทิ้ง แต่ยังกั๊กโยงการเมือง ห่วงภาวะแทรกซ้อน ปูดการข่าวให้ระวัง
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า สถานการณ์มีความเชื่อมโยงในการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น เจตนาของผู้ก่อเหตุไม่ต้องการให้พูดคุยกันต่อ และบีอาร์เอ็นก็ยอมรับว่ามีคนในกระบวนการบางส่วนที่ยังไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจได้ ในวันที่ 13 มิ.ย.คงได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มใหญ่มีหลายพวก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างหัวรุนแรง เชื่อมั่นว่าความรุนแรงจะเอาชนะรัฐไทยได้ เป็นเรื่องที่บีอาร์เอ็นต้องหาคำตอบให้กับเรา
เมื่อถามว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการต่อรองเพื่อให้ได้เปรียบการเจรจาหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ในรูปแบบการพูดคุยทางทฤษฎีเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายก่อเหตุความรุนแรงจะยกระดับเพื่อเป็นเงื่อนไขในการชิงความได้เปรียบ เมื่อถามว่า จะกลับไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่เกิดเหตุหรือไม่ หลังลดระดับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ขึ้นอยู่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แต่ยังยืนยันว่าเดินหน้าได้ ไม่ต้องยกระดับเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติยังกล่าวถึงเหตุระเบิดรามคำแหง 43/1 ว่า ในชั้นต้นคิดว่าเป็นเรื่องทางธุรกิจหรือมาเฟีย ยังไม่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนประเด็นทางการเมืองเจ้าหน้าที่ยังไม่ทิ้ง ทั้งนี้ การตั้งจุดตรวจ 9 จุดในสถานที่สำคัญ 24 ชั่วโมง เป็นนโยบายที่ ผบ.ตร.ไม่ต้องการให้เกิดเหตุรุนแรงในทุกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เมื่อถามว่า การดูแลในพื้นที่สำคัญและบุคคลสำคัญเป็นการสัญญาณอะไรหรือไม่ เลขาฯ สมช. กล่าวว่า การดูแลผู้นำเป็นไปตามปกติ เมื่อมีสถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นต้องมีการส่งสัญญาณเตือนกัน แต่ไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดเกินกว่าปกติ แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือสถานการณ์แทรกซ้อนในความพยายามที่จะขยายความรุนแรงให้วงใหญ่ขึ้น ซึ่งทางด้านการข่าวก็มีสิ่งที่บ่งบอกว่าต้องระมัดระวัง ทั้งนี้จากบทวิเคราะห์และการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีตที่เคยเป็นปัญหา ต้องนำมาเป็นตัวตั้งและดูกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน