xs
xsm
sm
md
lg

“นิชา” โวย “ธาริต” เมินแจงคดี “พล.อ.ร่มเกล้า”- ลูกน้องหนี หนังสือตอบกลับ “แดงขี้คุก” แค่หลักร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ภาพจากแฟ้ม)
ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า แสดงความผิดหวังหลังดีเอสไอไม่ให้ความสำคัญคดีฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ส่งลูกน้องยังโดดประชุม จี้เผยความคืบหน้าคดี และจำนวนคดีคนตายที่ส่งให้อัยการ พร้อมทั้งแจงตัวเลขม็อบแดงที่ถูกจับ เผยหนังสือตอบกลับ เสื้อแดงถูกจับกุมมีเพียงแค่ 294 ราย ไม่ใช่พันคนตามที่แอบอ้าง ชี้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับนิรโทษกรรม

วันนี้ (21 พ.ค.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Nicha Hiranburana Thuvatham" ระบุว่า วันนี้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มาประชุมคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แต่กลับส่งรองอธิบดีมาแทน ยังไม่ทันเริ่มประชุมเลย รองอธิบดีกลับไปแล้ว บอกว่าติดภารกิจด่วน สรุปได้ว่าคดีทหารตายคงไม่ใช่คดีสำคัญพอสำหรับดีเอสไอ

ก่อนหน้านี้เมื่อคืนที่ผ่านมา นางนิชาได้โพสต์ข้อความ เรื่อง คำตอบจาก ดีเอสไอ โดยระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พบและสอบถามข้อข้องใจจากอธิบดีดีเอสไอ ตามที่คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯทางคดีผู้เสียชีวิตปี 53 ของ ส.ว.สมชาย แสวงการ ได้เชิญให้อธิบดีดีเอสไอไปให้ข้อมูลที่รัฐสภา หวังว่าอธิบดีธาริตจะไปเพราะยังคาใจในคำถามที่เคยยื่นให้ นรม.ยิ่งลักษณ์ เมื่อ 19 มี.ค.56 ซึ่งขอทบทวนคำถาม 3 ข้อดังนี้

1. ขอให้อธิบดี นายธาริต แถลงชี้แจงด้วยตนเองเกี่ยวกับความคืบหน้าคดี พล.อ.ร่มเกล้า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ (จนบัดนี้ อธิบดีไม่เคยติดต่อมาเลยว่าจะแถลงชี้แจงวันไหน หรือเขาตั้งใจแถลงโดยไม่บอกให้เรารู้?)

2. ขอทราบจำนวนคดีการเสียชีวิตในปี 53 ที่ ดีเอสไอ ได้ดำเนินการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นต่อศาลแล้ว (ข้อนี้อยากรู้ว่าทำคดีทหารตายให้บ้างไหม)

3. ขอให้กระทรวงยุติธรรมแถลงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกแจ้งข้อหาและควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตามกฎหมายอื่นว่ามีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเท่าใด (จำแนกประเภทคดี) ถูกคุมขังเท่าใด และขณะนี้มีสถานภาพอย่างไรให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชน (ข้อนี้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับเรื่องนิรโทษกรรม)

“ต่อไปนี้คือหนังสือตอบจากอธิบดีธาริต เมื่อ 22 เม.ย. 56 ขอส่งให้ช่วยกันอ่านพิจารณาคำตอบ และที่สำคัญช่วยกันจำคำตอบดังต่อไปนี้ของ ดีเอสไอ ไว้ก่อนนะคะ แต่มีข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ดิฉันนับจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ทั้งหมดในข้อ 3.1-3.4 มีจำนวนรวม 294 ราย (ไม่ใช่หลายพันคนอย่างที่เขาชอบพูดๆ กัน) และในจำนวนนี้ ดีเอสไอ ไม่ยอมตอบคำถามข้อ 3 ของดิฉันว่า ขณะนี้พวกเขามีสถานภาพอย่างไร กำลังถูกคุมขังอยู่ในคุกกี่คน ทำไม ดีเอสไอ จึงไม่ยอมตอบข้อนี้ ?” นางนิชา ระบุ

สำหรับหนังสือที่นายธาริตส่งถึงนางนิชา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

• • •

ที่ ยธ (คพ๑๘)๐๘๐๐/ ๑๑๖๔

กรมสอบสวนคดีพิเศษ
๑๒๘ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

เรื่อง รายงานผลการดำเนินคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายน ๒๕๕๓

เรียน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๐๔๐๔ (สน)/๓๙๗๓ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

ตามอ้างถึง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการกรณี นาง นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยาพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม กราบเรียนขอความอนุเคราะห์นายกรัฐมนตรีกรุณาติดตามเร่งรัดการดำเนิน คดีการเสียชีวิตของพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม และเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ความละเอียดทราบแล้ว นั้น

กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ดังกล่าว จึงขอรายงานผลการดำเนินการ ดังนี้

๑ ความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของ พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน เป็นคดีพิเศษที่ ๑๓๘/๒๕๕๕ ข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า มีผู้เสียชีวิต ๕ ราย ได้แก่

(๑) พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม
(๒) สิบเอก อนุพงษ์ หอมมาลี
(๓) สิบโท ภูริวัฒน์ ประพันธ์
(๔) สิบตรี อนุพงษ์ เมืองอำพัน
(๕) พลทหาร สิงหา อ่อนทรง

และมีผู้บาดเจ็บมาร้องทุกข์ รวม ๒๕ ราย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

๑.๑ สอบสวนปากคำพยานในบริเวณที่เกิดเหตุ ภายในโรงเรียนสตรีวิทยา, พยานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม และพยานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ๒๕๐ ปาก

๑.๒ สอบสวนปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในวันที่เกิดเหตุ จำนวน ๑๐๒ ราย

๑.๓ สอบสวนปากคำแพทย์ที่ทำการตรวจศพ และแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้บาดเจ็บ

๑.๔ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับสำนวนชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และร่วมทำการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง

๑.๕ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อขอพยานหลักฐาน เช่น ภาพในกล้องวงจรปิดสื่อมวลชน

๑.๖ จากการสอบปากคำพยานในที่เกิดเหตุที่เห็นเหตุการณ์บริเวณถนนตะนาว พบว่ามีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายถืออาวุธ จำนวน ๓ คน เข้ามาบริเวณแยกคอวัวและถนนตะนาว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้สืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อเชื่อมโยงการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายดังกล่าว ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำร้ายทหารหรือไม่ อย่างไร

๒. จำนวนคดีการเสียชีวิตในการชุมนุมเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปี ๒๕๕๓ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นต่อศาล

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่า คดีพิเศษที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๓ คดี มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๘๙ ราย อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และรอคำสั่งศาลในสำนวนชันสูตร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ เพื่อนำประกอบสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งขณะนี้ศาลได้มีสั่งในสำนวนชันสูตรแล้ว จำนวน ๖ ราย อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล และอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน ๒๙ ราย โดยคดีที่มีคำสั่งศาลในสำนวนชันสูตรแล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการเร่งรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนเสนออัยการต่อไป

๓.ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯและข้อหาตามกฎหมายอื่น กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการแจ้งข้อหาและควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุม โดยการแบ่งกลุ่มการดำเนินคดีเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่

๓.๑) กลุ่มคดีก่อการร้าย (เหตุการณ์ต่างๆ) ประกอบด้วย ข้อกล่าวหา ร่วมกันมีและใช้เครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ฯลฯ มีผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๕๗๖ ราย สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ ๒๓๓ ราย

๓.๒) กลุ่มคดีขู่บังคับให้กระทำการใดๆ ประกอบด้วย ข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์ มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯลฯ ผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๖๘ ราย สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ ๕๑ ราย

๓.๓) กลุ่มการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้อกล่าวหามีวัตถุระเบิดทำให้เกิดระเบิดและมีผู้เสียชีวิต หน่วงเหนี่ยวกักขัง ผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๗ ราย ยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ (ผู้ต้องหาเสียชีวิต ๑ ราย)

๓.๔) กลุ่มการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๑๔ รายสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ๑๐ ราย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
นายธาริต เพ็งดิษฐ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ชมสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกกลางกรุง ที่ ”สามแพร่ง”
ชมสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกกลางกรุง ที่ ”สามแพร่ง”
ในเขตกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ มีย่านเก่าอยู่มากมายซึ่งแต่ละแห่งนั้นล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนั้นซึ่งได้ดำเนินจนมาถึงปัจจุบัน แต่ในหมู่ย่านทั้งหลายนั้น ย่านที่มีชื่อเรียกแปลกออกไปจากหลายๆ ที่นั้น คือ “ย่านแพร่ง” คำว่าแพร่งนี้ใช้เรียกทางแยกสามทางซึ่งเรามักได้ยินบ่อยว่า “ทางสามแพร่ง” ในกรุงเทพฯ มีเส้นทางลักษณะนี้อยู่มากมายซึ่งปัจจุบันไม่ได้เรียกแบบอดีตแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือย่านที่ยังคงชื่อเหล่านี้ไว้ตั้งแต่อดีตนั้นคือ “ย่านแพร่ง” ย่านนี้ประกอบด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพสาตร์ ทั้งสามแพร่งนี้อยู่ในละแวกเดียวกัน รวมกันแรกว่า “ย่านแพร่ง” โดยมีถนนเล็กๆ เชื่อมต่อกัน ในย่านแพร่งแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ของบ้านเก่าที่ยังสวยงามตามสถาปัตยกรรมในครั้งอดีต โดยสถาปัตยกรรมในย่านนี้เป็นแบบชิโนโปรตุกีส (Sino-Portuguese) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างจีนและโปรตุเกสและยังคงอยู่ให้ได้เห็นถึงปัจจุบันในย่านแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น