xs
xsm
sm
md
lg

“พีมูฟ” ยันเดือดร้อนหนักต่อสู้มานับสิบปี วอนรัฐบาลแก้ปัญหาอย่าจับโยงการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวแทน “พีมูฟ” วอนรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาจริงจัง หลังต่อสู้นานนับสิบปี 13 นายก 16 รัฐบาล ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยันเดือดร้อนหนักจริงจึงต้องเข้ามาชุมนุมหน้าทำเนียบฯ อย่าจับโยงเกี่ยวข้องพรรคการเมืองเพราะชาวบ้านไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอยากล้มอำนาจใคร



วันที่ 16 พ.ค. 56 ตัวแทนจากเครือข่ายชาวบ้านทั่วประเทศในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี เพื่อกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา

โดยนางลลิตา ซุยยัง เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) กล่าวถึงปัญหาคนไทยพลัดถิ่นว่า เดิมไม่มีกฎหมายเรื่องคืนสัญชาติให้คนพลัดถิ่น เมื่อเสียดินแดนก็เสียสัญชาติด้วยซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตามประวัติศาสตร์แล้วดินแดนมะริด ทวาย ตะนาวศรี เดิมเป็นของไทย แล้วเสียให้อังกฤษ ต่อจากนั้นเป็นของพม่า พี่น้องคนไทยหลายคนติดอยู่ตรงพื้นที่นั้น พอวันหนึ่งรู้สึกอยู่อย่างไม่มั่นคงจึงย้ายกลับมาในประเทศไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกให้เป็นสัญชาติพม่าโดยที่ยังไม่คืนความเป็นไทยให้ พวกเราจึงผลักดันกฎหมายจนกระทั่งสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว แต่วันนี้ก็ยังไม่ได้สัญชาติจากกฎหมายที่เราผลักดันเลย เกิดความเดือดร้อนหนักเพราะเราใช้สิทธิเหมือนคนไทยอื่นๆ ไม่ได้

นางลาภ หารทะเล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) กล่าวถึงปัญหาชาวมอแกนว่า กลุ่มเรานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ทำกินที่อยู่อาศัยให้ แต่ตอนนี้ที่ดินที่อยู่บนบกนายทุนมาอ้างสิทธิหาว่าชาวเลบุกรุกพื้นที่เขา ทั้งที่เราบุกเบิกมาก่อน และมีเอกสารถือครองที่ดินเป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้โดนไล่ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ยอมออกไปไหนเพราะปู่ย่าตายายเราก็อยู่ตรงนี้มา เวลาชาวบ้านออกไปทำประมง นายทุนก็เอาปืนไล่ยิง ปล่อยหมามากัด ไม่ให้ทำมาหากิน ชาวบ้านเข้าไปก็ตายเพราะถ้าไม่ไปหาตรงนั้นก็ไม่มีที่ทำมาหากินแล้ว แม้มี พ.ร.บ.คุ้มครองแต่ก็ไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งปัญหานั้นมีมานานแล้ว แต่หลังๆ หนักหนาสาหัสมากขึ้น ตนมากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาจนนับไม่ถ้วนแล้ว

นายประทิน ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงปัญหาว่า พอพี่น้องเราโดนไล่ที่ก็ไปหาที่รกร้างอยู่ เช่นที่ทางรถไฟ เข้ามาอยู่ เข้ามาบุกเบิก ตอนหลังการรถไฟฯ ประกาศไล่ที่คนจำนวนมากก็ไม่มีที่ไป เราเลยรวมตัวกันเสนอว่าต้องมีนโยบายที่อยู่อาศัยให้บรรจุในรัฐธรรมนูญ ในที่สุดเสนอได้จนมีนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย แต่ที่ติดหนักคือเรื่องที่ดินไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะที่ดินในเมืองราคาสูงมาก ที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน เป็นของรัฐบ้าง การไล่ที่ของรัฐไม่เท่าไหร่ แต่ที่หนักคือเอกชน บางครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด

นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) กล่าวถึงปัญหาว่า เทือกเขาบรรทัดเป็นของรัฐส่วนใหญ่มีชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่มานานเป็นร้อยปี พอรัฐออกประกาศทับ โดยเมื่อปี 2525 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ปี 2518 ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด กลายเป็นว่าชาวบ้านมีความผิดบุกรุกที่อุทยาน โดยที่ชาวบ้านไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าอุทยานคืออะไร บางบ้านยอมยกที่ให้สร้างถนน แต่ตอนนี้โดนไล่ทั้งครอบครัว ตอนประกาศแรกๆยังไม่มีปัญหาแต่พอหลังปี 41 ได้มีการพิสูจน์สิทธิ ชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่องเลยไปพิสูจน์สิทธิ ปรากฎว่าทั้งหมู่บ้านมีแค่ 40-50 ไร่ที่ผ่านการพิสูจน์ แรกๆ ไล่ที่ด้วยการดึงพระองค์ท่านลงมาด้วยการทำเป็นปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่ชาวบ้าน หลังปี 43 ชาวบ้านรวมตัวเคลื่อนไหวจึงไม่ดึงพระองค์ท่านมาอ้าง แต่ใช้ทางกฎหมายแทน มีทั้งจับกุม ฟ้องร้องทางอาญาข้อหาบุกรุก โดนคดีโลกร้อนเป็นคดีแพ่ง

แล้วนี่กำลังจะเข้าสู่อาเซียน จะเกิดไรขึ้น ตนคิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นวิกฤต เพราะนโยบายกฎหมายที่สนองกลุ่มทุนอุตสาหกรรม กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาไล่ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจปัจจัยสำคัญก็คือที่ดิน พวกเราเลยออกเรื่องโฉนดชุมชนขึ้นมา เพื่อปกป้องการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจใหม่ ฝากบอกพี่น้องทุกคนว่าที่พวกเราเรียกร้องไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว

“เราใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในการผลักดันเสนอ ฉะนั้นโปรดเคารพสิทธิเราด้วย อย่าหยิบโยงว่าเราเป็นเครื่องมือคนโน้นคนนี้ เราจำเป็นต้องมา เราไม่มีเป้าหมายแย่งอำนาจจากใคร ไม่มีความคิดล้มล้างใครทั้งสิ้น แล้วอย่ายกพี่น้องเราไปแปะพรรคโน้นพรรคนี้ เพราะเราสู้กันมานับสิบปี สู้มาทุกพรรคที่เป็นรัฐบาล” นายบุญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น