ป.ป.ช.มอบแนวทางคัด กก.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตจังหวัด ต่อผู้ว่าฯ เริ่มจากให้ 9 องค์กรส่งคนมาเป็นกรรมการคัด ดีเดย์ 32 จังหวัด แนะช่วยให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นตาเช็กภูมิหลังผู้สมัคร ชี้ต้องสุจริต มีผลงานปราบโกง ขอตำรวจคุมวันคัด แฉพ่อค้ายาเสพติดจ่อสมัคร เตือนจะขายขี้หน้าถ้าเอามาเฟียมาตรวจสอบเอง รับสุดกังวลพวกแนวคิดโกงไม่เป็นไร ระบุคือความตายของประเทศ
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายปรีชา เลิศกมลมาศ และพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. มอบแนวทางการดำเนินการให้กับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
นายปานเทพกล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 246 วรรคท้าย บัญญัติให้มี ป.ป.จ. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องการและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับในหมวด 9/2 ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตประจำจังหวัด เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยกรรมการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. 2555 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2556 เป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.จึงมีภารกิจให้มีการดำเนินงาน สรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยประกอบไปด้วย 2 ภารกิจ คือ 1. การคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อมาสรรหากรรมการ ป.ป.จ. และ 2. การสรรหากรรมการ ป.ป.จ.
“สำหรับการสรรหาตามข้อ 1 มีรายละเอียด คือ ให้ผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในแต่ละจังหวัด รวม 9 กลุ่มองค์กร ประกอบไปด้วย 1. สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา 2. สภาทนายความ หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย 3. สมาคม หรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน 4. สภาหอการค้าจังหวัด หรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 5. กลุ่มอาสาสมัคร 6. องค์กรเอกชน 7. องค์กรเกษตรกร 8. สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน 9. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ให้ทำการคัดเลือกกันเองให้เหลือหน่วยงานหรือองค์กรละ 1 คน รวม 9 คน ทำหน้าที่สรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในภารกิจที่ 2 ต่อไป โดยการคัดเลือกกรรมการ ป.ป.จ.จะเริ่มดำเนินการก่อนใน 32 จังหวัด ส่วนอีก 44 จังหวัดที่เหลือจะเริ่มดำเนินการ 24 ก.ค. 56” นายปานเทพกล่าว
นายประสาทกล่าวว่า ในระเบียบดังกล่าวให้แต่ละจังหวัดมี ป.ป.จ.ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยจังหวัดที่มีประชากร 1,300,000 คนขึ้นไปจะมี 5 คน หากน้อยกว่านี้จะมี 3 คน ทั้งนี้ ในภารกิจที่ 2 การสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ก็จะมีการประกาศรับสมัคร ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ โดยให้คณะกรรมการคัดเลือก ป.ป.จ.มาเป็น 2 เท่า สมมติว่า จังหวัดที่มี ป.ป.จ.5 คน ก็ต้องคัดเลือกมา 10 แล้วส่งให้ ป.ป.ช.กลาง จากนั้นจะทำการประชาสัมพันธ์ ให้มีการตรวจสอบว่าบุคคลนี้ มีภูมิหลังเป็นอย่างไร เมื่อตรวจสอบแล้ว ก็จะคัดเลือกให้เป็น ป.ป.จ. แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยปลุกระดมประชาชนให้ช่วยกันตรวจสอบบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการสรรหา และบุคคลที่จะมาสมัครเป็น ป.ป.จ.มีภูมิหลังเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไรเกี่ยวข้องกันหรือไม่
พล.ต.อ.สถาพรกล่าวว่า ในวันที่มีการคัดเลือกกรรมการสรรหา ป.ป.จ. ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธร ร่วมมือช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะกลุ่มองค์กรทั้ง 9 กลุ่ม อาจมีบางกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก แล้วอยากสนับสนุนคนของตัวเอง จึงอาจขัดแย้งกันในกลุ่มเกิดเหตุรุนแรงได้ จึงขอให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมพื้นที่รักษาความสงบ และให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วคอยมาระงับเหตุ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่คุมสถานการณ์ไม่อยู่ พร้อมให้มีชุดปฏิบัติด้านงานข่าวเพื่อหาข้อมูลกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อาจแฝงตัวมาก่อเหตุได้
นายวิชากล่าวว่า ในเดือน มิ.ย.จะมีการรับสมัครกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งก่อนจะถึงช่วงนั้น จะต้องมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องคุณสมบัติของบุคคล จะต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในการป้องกันและปราบปรามทุจริต เป็นต้น ทั้งนี้ ประธาน ป.ป.จ.ได้รับเงินเดือน 57,650 บาท ส่วนกรรมการได้เงินเดือน 47,240 บาท ดังนั้น คนที่เป็น ป.ป.จ.จะดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกไม่ได้ และหากดำรงตำแหน่งอะไรต้องลาออกก่อน
“ผมได้ข้อมูลมาว่าจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดมาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.จ.ด้วย ดังนั้น ผู้ว่าฯ ย่อมรู้ในพื้นที่ดีอยู่แล้วจะต้องตรวจสอบให้ละเอียด เพราะไม่เช่นนั้นจะขายขี้หน้ามากถ้าหากได้มาเฟียมาตรวจสอบการทำงานของท่านเอง การป้องกันไม่ให้ที่บุคคลเหล่านี้ เข้ามาเป็น ป.ป.จ. เป็นสิ่งที่เรากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแนวความคิดโกงไม่เป็นไร แต่ขอให้ได้ประโยชน์ด้วย ถ้าคนที่เป็น ป.ป.จ.แค่คิดแบบนี้ก็ผิดแล้ว ครั้งนี้คือความเป็นความตายของประเทศ” นายวิชากล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างการชี้แจง นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร ได้สอบถามว่า ในส่วนของสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมลูกเสือชาวบ้าน ก็มีความสนใจที่จะเป็นกรรมการคัดเลือก แต่ไม่รู้ว่าอยู่ไหนกลุ่มไหน จึงอยากให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงด้วย
นายปรีชากล่าวตอบว่า สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ ส่วนชมรมลูกเสือชาวบ้านอาจเข้าข่ายในส่วนกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งต้องพิจารณากันก่อน
นายประสาทกล่าวเสริมว่า ในข้อ 22 ของระเบียบดังกล่าวระบุว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่ประสงค์จะส่งผู้แทนเพื่อคัดเลือกกรรมการสรรหา ให้แจ้งความประสงค์การขอขึ้นทะเบียน โดยสมาชิกต้องรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมต่อผู้ประกอบวิชาชีพในจังหวัด
มีรายงานว่า ระยะเวลาการเริ่มสรรหา ป.ป.จ.จังหวัด โดยวันที่ 22 เม.ย.56 ประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่การขอขึ้นทะเบียนของหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อคัดเลือกกรรมการสรรหา 23-26 เม.ย. 56 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ทั้ง 32 จังหวัด จัดประชุมผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรที่มีคุณสมบัติเพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินการ 30 เม.ย. - 8 พ.ค. 56 วันขึ้นทะเบียนของหน่วยงานหรือองค์กร 9 พ.ค. 56 ประกาศรายชื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 10-16 พ.ค. 56 ผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งหรือคัดค้านการขึ้นทะเบียน 17 พ.ค. 56 ประกาศกำหนดรายละเอียดและแนวทางในการคัดเลือกกันเองของผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร 27-31 พ.ค. 56 ประชุมผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อคัดเลือกกันเองให้เหลือกลุ่มละ 1 คน 3 มิ.ย. 56 ประกาศผลคัดเลือกกรรมการสรรหา 4-10 มิ.ย. 56 ผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งหรือคัดค้านผลการคัดเลือก 13 มิ.ย. 56 เลือกประธานกรรมการสรรหา และ 17 มิ.ย. 56 เริ่มกระบวนการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตประจำจังหวัด
สำหรับ 32 จังหวัดที่ดำเนินการในระยะแรก ประกอบไปด้วย พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี สงขลา นครปฐม กระบี่ จันทบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เพชรบุรี แพร่ ยะลา ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ศรีษะเกษ สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี
โดยอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.จ. อาทิ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐและรวบรวมพยานหลักฐานเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. และตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีแสดงรายการที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เป็นต้น