เสียงข้างมากลากสำเร็จ! ที่ประชุมสภามีมติเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องด่วนด้วยคะแนน 283 ต่อ 56 แล้ว แกนนำแดงแสร้งไม่ขอรับอานิสงส์ ฝ่ายค้านอัดแค่วาทกรรม เพราะกฎหมายครอบคลุมทุกคน ขู่กำลังถูกบีบให้เล่นเกมนอกสภา อีกด้าน “ธรรมศาสตร์” ออกนอกระบบผ่านวาระ 1 ตั้ง กมธ.วิสามัญแปรญัตติ 15 วัน
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานสภา ได้ลงมติรับหลักการวาระแรกแห่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากที่การประชุมคราวที่ผ่านมาได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และได้มีการปิดอภิปรายไปแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 397 เสียง ต่อ 1 เสียง ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 31 คน กำหนดให้แปรญัตติจำนวน 15 วัน
จากนั้น ได้มีการพิจารณาญัตติของเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก ตามข้อเสนอของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แต่ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้อภิปรายทักท้วงไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งพิจารณาแทนที่ร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอีกกว่า 17 ฉบับที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และรอการพิจารณาจากสภาอยู่
นายแพทย์สุกิจ อัธโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 หากพรรคเพื่อไทยจะเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกและธุรกิจของตนเอง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยอมรับมาตลอดว่าเป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง ทำไมถึงรีบร้อนเสนอเรื่องนี้เข้ามา แสดงว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนใช่หรือไม่ และอย่ามาอ้างว่าเป็นการทำเพื่อความปรองดอง เพราะประชาชนทุกคนพร้อมที่จะปรองดองโดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายมานานแล้ว มีแต่คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกของรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ยอมที่จะปรองดอง
“ปัญหาการปรองดองสามารถแก้ไขได้โดยการให้นายกรัฐมนตรีบอกให้คนบางกลุ่มหยุดความเคลื่อนไหวกดดันให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พวกท่านรีบเร่งเพราะกลุ่มเสื้อแดงออกมาทวงบุญคุณใช่หรือไม่ หรือต้องการช่วยเหลือใครบางคน พวกเราไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนครั้งนี้ ขอให้ปล่อยไว้ ณ ที่เก่า สักวันหนึ่งมันก็จะถึงเวลาของมันเอง” นายแพทย์สุกิจ กล่าว
ด้านนายวรชัย เจ้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อภิปรายสนับสนุนญัตติของตนเองว่า ขณะนี้สังคมไทยเกิดความแตกแยกมาตั้งแต่การปฏิวัติ ขณะที่หลายประเทศพยายามลดความขัดแย้ง แม้แต่ประเทศพม่าที่เป็นเผด็จการก็ยังมีการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจปี 49 ส่งผลให้มีความขัดแย่งในประเทศตั้งแต่ระดับครอบครัว ไม่ว่าจะมีรัฐบาลชุดใดขึ้นมาก็จะถูกกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามชุมนุมขับไล่ แม้มีความขัดแย้งกันได้แต่ต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย การเสนอ พ.ร.บ.ของตนไม่ได้คิดทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คิดถึงประชาชนจริงๆ ทุกสีเสื้อ โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯที่ถูกคดีหนักๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดียึดสนามบิน คดียึดทำเนียบรัฐบาล ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านคัดค้าน อย่างไรก็ตามตนขอให้ทางฝ่ายค้านเห็นใจประชาชนที่ติดคุกว่าเขามีความลำบากขนาดไหน ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ทุกข์ทรมาน จึงขอให้ร่วมแรงร่วมใจนับหนึ่งประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า โดยการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้จากการร่วมมือกันทุกสีเสื้อ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช.ขอพูดแทนพี่น้องเสื้อแดงที่เข้ามาเป็น ส.ส.ทุกคน ว่าจะไม่มีคนได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และยืนยันว่าพวกตนเป็นลูกผู้ชายพอ พร้อมที่จะเข้าไปต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนก็อยากจะพิสูจน์ว่าผู้ที่ถูกข้อหาก่อการร้ายกับผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน ใครจะได้รับผลกรรมก่อนกัน
หลังจากมีการอภิปรายมาช่วงหนึ่ง นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมปิดการอภิปราย แต่นายวิสุทธิ์ ไชยอรุณ รองประธานสภาที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ขอหารือทางพรรคประชาธิปัตย์ ยังขอโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายต่อ แต่นายวิสุทธิ์จึงขอให้นายขจิตถอนออกไปก่อน แต่นายขจิตยังยืนยันให้มีการปิดอภิปราย โดยอ้างว่าสมาชิกได้อภิปรายพอควรแล้ว
ด้านนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า หากเร่งปิดการอภิปรายก็จะเป็นการบีบให้พวกตนต้องออกไปอยู่นอกสภา กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถนำไปสู่ความปรองดองได้ ตราบใดที่ประชาชนยังไม่เข้าใจชัดเจน และมีบางคนมีส่วนได้เสีย และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เสนอ พ.ร.บ.เป็นผู้ได้ผลประโยชน์ แม้บางคนจะปฏิเสธว่าจะไม่ขอรับอานิสงส์ที่ได้จากกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็เป็นเพียงวาทะกรรมทางการเมืองเท่านั้น เพราะเมื่อกฎหมายออกมาแล้วย่อมมีผลบังคับใช้กับทุกคน จะอ้างว่าไม่ขอรับสิทธิไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามขออภิปรายต่อ แต่นายวิสุทธิ์ได้ตัดบทให้ที่ประชุมลงมติในญัตติขอปิดอภิปรายของนายขจิต ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นด้วย แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พยายามขัดขวาง โดยการเสนอญัตติขอเลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายอื่นขึ้นมาพิจารณาแทนก่อน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนในที่สุดที่ประชุมมีมติ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ มีผู้ลงชื่อประชุม 338 คน เห็นด้วยกับการปิดอภิปราย 284 คน ไม่เห็นด้วย 43 คน งดออกเสียง 1 คน และไม่ลงคะแนน 10 คน ส่วนการลงมติขอเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็นเรื่องด่วน โดยมีผู้ลงชื่อประชุม 347 คน เห็นด้วยกับการเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องด่วน 283 คน ไม่เห็นด้วย 56 คน งดออกเสียง 4 คน และไม่ลงคะแนน 4 คน