ในรอบครึ่งเดือนแรกของเดือนเมษายน เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยพุ่งเป้าไปยัง “เป้าหมาย” ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างขึ้น
ทั้งการลอบสังหาร “อิศรา ทองธวัช” รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา “เชาวลิต ไชยฤกษ์” ปลัดป้องกัน จังหวัดยะลา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ในพื้นที่ทันที
ทั้งการลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่บ้านของ “นัจมุดดิน อูมา” อดีต ส.ส.นราธิวาส แกนนำกลุ่มวาดะห์ ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ยิงกันสองครั้งสองครา แสดงถึงความไม่ชอบมาพากล
ทั้งการลอบวางระเบิดพร้อมๆ กัน 7 จุด ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ “ทหาร” เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 นาย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน สะท้อนภาพให้เกิดแจ่มชัดขึ้นว่าการที่ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) ภายใต้การนำของ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” ดลขาฯสมช. ยอมลดตัวลดสถานะไปลงนาม “พูดคุยสันติภาพ” กับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ไม่เป็นผลในทางที่จะทำให้สถานการณ์เบาบางลงแต่อย่างใด
หนำซ้ำยิ่งเป็นการเร้าให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตรึงเครียดขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ไม่ได้มีแค่ “บีอาร์เอ็น” แค่กลุ่มเดียว และมีมากกว่า 10 กลุ่ม หามัวแต่พูดคุยผิดคน ก็ไม่ต่างกับการกลัดกระดุมผิดเม็ด และเปิดช่องให้กลุ่มอื่นก่อเหตุได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญกว่านั้นใน “บีอาร์เอ็น” เองก็มีการปกครองหลายระดับชั้น แม้ “พล.ท.ภราดร” มักอ้างว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีการปกครองของแบบ “สภา” เมื่อเสียงข้างมากของ “สภา” เห็นชอบก็ถือเป็น “มติ”
แต่ถามว่า “เสียงข้างน้อย” ของ “บีอาร์เอ็น” จะยอมรับกันง่ายๆคงไม่ใช่
ว่ากันว่า “แกนนำระดับหน้า” อย่าง “ลุกมาน บิน ลีมา” ผู้บัญชาการหน่วยกำลังพลของ “บีอาร์เอ็น” เป็นหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย และเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการออกมาต่อต้านการพูดคุยสันติภาพ
และเป็น “ลุกมาน” และบรรดาลูกน้องมือฉมังที่สังกัดอยู่ในกองกำลัง “อาร์เคเค” ซึ่งเป็นหน่วยกำลังระดับปฏิบัติการพิเศษของ “บีอาร์เอ็น” ออกมาก่อเหตุความไม่สงบหลายครั้งในช่วงหลังมีการลงนามพูดคุยสันติภาพ
เมื่อผสมรวมกับ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” กลุ่มอื่นๆ แล้ว ทำให้การก่อเหตุความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มขึ้น และรุนแรงขึ้น สร้างความหวาดระแวงกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” และ “ประชาชน” ได้มากขึ้นเช่นกัน
เข้าใจว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นนิมิตหมายอันดี แต่ “ทางการไทย” ก็ไม่ควรไปคาดหวังมากมายนัก ไม่ควรให้ราคาคนที่คุยด้วยมากเกินไป เพราะจะทำให้ติดกับดักที่ตัวเองขุดทิ้งเอาไว้
ที่สำคัญระยะหลังลือกันแซ่ด พูดกันให้ทั่ว ว่า “ทหาร” ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งเดิมไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่จึงมีให้เห็นในทันที
และยิ่ง “แกนนำ” ในการพูดคุยสันติภาพ ส่วนใหญ่เป็นพวกเตรียมทหารรุ่น 14 เกือบทั้งหมด ทั้ง “พล.ท.ภราดร” “พล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก” รองปลัดกระทรวงกลาโหม “พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย อเนกเวียง" ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) ยิ่งทำให้ “ทหาร” ในพื้นที่ไม่ชอบเข้าไปใหญ่
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเตรียมทหารรุ่น 14 เป็น “ทหาร” ในเครือข่ายของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่กันคนละขั้วอำนาจกับ “ทหาร” ในยุคของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาระบุว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นหน้าที่ของ “พล.ท.ภราดร” ส่วน “ทหาร” จะเกี่ยวข้องในเรื่องการให้ข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เป็นฝ่ายได้เปรียบในการพูดคุยร่วมกัน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มใดเป็นพิเศษ
“ช่วงนี้อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เพราะเป็นเรื่องของการเดินตามยุทธศาสตร์ ปัญหาภายในของเราคือการสร้างความเข้าใจเพราะเป็นการต่อสู้ทางด้านความคิดและความเชื่อ ระหว่างนี้ต้องระมัดระวังทั้งสองฝ่ายไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น”
ก็พอสามารถถอดรหัสผ่านคำพูดได้ ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ เพียงแต่จะพูดออกมาตรงๆ ไม่ได้ เพราะจะส่งผลเสียในการสั่งการ “ทหาร” ในบังคับบัญชา
ส่วนนี้ก็สะท้อนให้เห็นเป็นนัยยะอยู่แล้วว่า “ทหาร” (ส่วนใหญ่) ไม่เล่นตามเกมที่ “รัฐบาล” กำหนดเอาไว้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัยขึ้นมา การตรวจตรา การตั้งด่าน การลาดตระเวน เป็นต้น ไม่เข้มข้นเข้มแข็งเหมือนเดิม
และสาเหตุส่วนหนึ่งคือที่ผ่านมา “ทีมพุดคุยสันติภาพ” ไม่เคยมาหารือหรือข้อคำแนะนำกับ “ทหาร” ก่อนที่จะไปพูดคุยสันติภาพแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดความหมางใจกันพอสมควร
และทาง “พล.ท.ภราดร” เอง มีข่าวลือว่าได้โละทีมดูแลเรื่องภาคใต้ใน สมช.ใหม่ถอดด้ามเกือบหมด ทีมเดิมที่ทำงานกันมานานถูกถอดออกไป ด้วยเงื่อนไขที่ว่า “พล.ท.ภราดร” ไม่ไว้วางใจ การประเมินสถานการณ์ในระยะหลังจึงผิดพลาดในหลายครั้ง
การทำงานของ “ทางการไทย” ที่ยังมีปัญหาภายใน ส่งผลให้ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” โจมตีได้ง่ายขึ้น เมื่อความเป็นเอกภาพ (แต่คำพูด) ของ “ทางการไทย” มีให้ “ฝ่ายตรงข้าม” เห็น ทุกอย่างจึงเข้า “ทางปืน” ของ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ทันที
ดังนั้นก่อนจะรบ "ศึกนอก” เราควรทำให้ “ศึกใน” สงบเสียก่อน เพื่อความเป็น “เอกภาพ” เดินในแนวทางเดียวกัน เพื่อจุดหมายเดียวกัน ให้ “ปลายด้ามขวาน” เกิดความสงบสุข