xs
xsm
sm
md
lg

มรดกของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฤดูหนาวของปี 1978 ในประเทศอังกฤษ อากาศหนาวจัดที่สุดในรอบ 16 ปี ในกรุงลอนดอนและเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ตามถนนเต็มไปด้วยกองขยะ เพราะคนเก็บขยะทั่วประเทศหยุดงานประท้วงรัฐบาลพรรคแรงงานที่มีนายเจมส์ คัลลาแฮน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงคนงานในภาครัฐไม่เกิน 5 % เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ

นอกจากปัญหาขยะล้นเมืองแล้ว ที่เมืองลิเวอร์พูลยังมีปัญหาศพที่รอการฝังเป็นจำนวนมาก เพราะสัปเหร่อก็นัดหยุดงานด้วย โรงพยาบาลหลายแห่งรับได้เฉพาะคนไข้ฉุกเฉิน เพราะบุคลากรที่มิใช่หมอและพยาบาลนัดกันปิดทางเข้าออกโรงพยาบาล คนงานเหมืองถ่านหินผละงานทำให้ไฟฟ้าดับ สัปดาห์ละหลายวัน เพราะโรงไฟฟ้ามีถ่านหินไม่พอใช้ คนอังกฤษต้องทนหนาวอยู่ท่ามกลางความมืด

ฤดูหนาวในปีนั้นถูกหนังสือพิมพ์เรียกขานว่า “ The Winter of Discontent” หรือ ฤดูหนาวที่ทุกข์เข็ญ ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในบทละครเรื่อง ริชาร์ดที่สาม ของเช็คสเปียร์ และคัลลาแฮ ก็ใช้คำนี้ในการกล่าวปราศรัยครั้งหนึ่ง

อังกฤษในขณะนั้นอยู่ภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐบาลมีบทบาทในทางเศรษฐกิจสูง เป็นเจ้าของกิจการที่สำคัญ เช่น สายการบิน โทรคมนาคม ท่าเรือ บริษัทน้ำมัน และ รถโรลส์รอยซ์ ฯลฯ คนงานในภาครัฐมีสัดส่วนถึง 30 % ของการจ้างงานทั้งหมด สหภาพแรงงานมีอำนาจในการเจรจาต่อรองมาก โดยใช้การนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือ เมื่อต้องการเรียกร้องค่าแรง หรือ เงื่อนไขการจ้างงาน รัฐเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและสวัสดิการสังคม

เศรษฐกิจในยุครัฐบาลพรรคเลเบอร์ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลมีวิธีแก้ปัญหาอย่างเดียวคือคุมค่าแรงไม่ให้สูงเกินไป เพื่อลดเงินเฟ้อ แต่ไม่ได้ผลและทำให้เกิดการประท้วงนัดหยุดงาน

ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพรรคแรงงานถูกพรรคอนุรักษ์นิยมใช้เป็นประเด็นโจมตีในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายนปี 1979 ภายใต้แคมเปญ “ The Labor isn’t working” หรือ พรรคเลเบอร์ไม่ทำงาน ซึ่งมีนัยว่านโยบายของพรรคเลเบอร์ไม่ได้ผล

โปสเตอร์หาเสียงที่เป็นรูปคนตกงานเข้าคิวยาวคดเคี้ยวเป็นหางงูอยู่หน้า หน่วยงานสวัสดิการคนว่างงาน พาดหัวตัวใหญ่ว่า “THE LABOR ISN’T WORKING” ปิดท้ายด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก ข้อความว่า “BRITAIN’S BETTER OFF WITH CONSERVATIVES” ที่ออกแบบโดยพี่น้องแห่งตระกูลซาทชิ ผู้ก่อตั้ง ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ยักษ์ใหญ่ในวงการโฆษณาของอังกฤษขณะนั้น เป็นผลงานโฆษณาที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่ง เพราะสื่อความหมายได้โดนใจคนอังกฤษมากที่สุด จนทำให้พรรคอนุรัษ์นิยมได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

วันที่ 4 พฤษภาคม 1979 นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษในขณะที่มีอายุ 54 ปี หลังจากเล่นการเมืองมาได้ 20 ปี

พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของแธตเชอร์ชนะการเลือกตั้งอีก 2 ครั้งติดต่อกันในเดือนมิถุนายน 1983 ซึ่งเป็นผลพวงจากการประกาศสงครามชิงเกาะฟอล์คแลนด์ ในปี 1982 และการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อีกครั้งหนึ่งคือการเลือกตั้งในปี 1987 ทำให้เธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในศตวรรษที่ 20 ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคือตั้งแต่ปี 1979-1990 เป็นเวลานานถึง 11 ปี

แธตเชอร์ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และนายกรัฐมนตรีก่อนจะครบเทอมในสมัยที่ 3 เพราะถูกกดดันจากสมาชิกพรรค ให้ลาออก เนื่องจากการออกกฎหมายที่เก็บภาษีบำรุงรัฐบาลท้องถิ่นในอัตราที่เท่ากันทุกคนจากประชาชน ทำให้คะแนนนิยมของพรรคตกเป็นรองพรรคแรงงาน และไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมระบบอัตราแลกเปลี่ยนของอียูซึ่งขัดแย้งกับรัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่สนับสนุน

หนึ่งทศวรรษของแธตเชอร์ได้เปลี่ยนอังกฤษจากสังคมนิยมประชาธิปไตยที่รัฐมีบทบาทอย่างสูง มาเป็นเสรีนิยมใหม่ที่ให้“ตลาดเสรี”เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายของแธตเชอร์หรือลัทธิแธตเชอร์ (Thatcherism)ได้อิทธิพลจากความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย ชื่อ ฟรีดีช ฮาเยค และมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก ซึ่งเชื่อว่า ตลาดเสรีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรจะลดบทบาทให้เหลือน้อยที่สุด ปล่อยให้เอกชนทำหน้าที่แทน

แธตเชอร์ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ลดอำนาจสหภาพแรงงาน ปรับระบบการจ้างงานให้ยืดหยุ่น ลดภาษี และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การผ่อนคลายการกำกับดูแลโดยรัฐ รัฐวิสาหกิจจำนวนมากถูกขายให้เอกชนหรือยุบทิ้ง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของแธตเชอร์เป็นต้นแบบของการแปรรูปฯ ในหลายๆ ประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียในเวลาต่อมา

ในขณะที่อังกฤษมีลัทธิแธตเชอร์ ในเวลาเดียวกันอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติด ที่สหรัฐอเมริกา ในยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน ก็มี เศรษฐศาสตร์แบบรีแกน หรือ Reganomics ซึ่งต่างกันแต่ชื่อ แต่เนื้อหาเหมือนกันคือ ลัทธิตลาดเสรี และจำกัดบทบาทของรัฐบาลให้น้อยลงที่สุด

ทั้งลัทธิแธตเชอร์และรีแกนโนมิคส์พลิกโฉมหน้าอังกฤษและสหรัฐฯ ไปอย่างสิ้นเชิง และขับเคลื่อนระบบทุนนิยมในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ให้แผ่ขยายไปทั่วโลก รุกไล่อุดมการณ์สังคมนิยมจนแตกกระเจิง

ในอังกฤษ แม้ลัทธิแธตเชอร์จะได้รับการยกย่องว่าทำให้อังกฤษมีชีวิตใหม่ และแม้กระทั่งพรรคแรงงานซึ่งกลับมาครองอำนาจหลังจากปี 1997 จนถึง 2010 ก็ยังคงสืบทอดแนวความคิดตลาดเสรีส่งเสริมธุรกิจของลัทธิแธตเชอร์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แธตเชอร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิตลาดเสรีว่าเป็นผู้โยกย้ายความมั่งคั่งจากส่วนล่างของสังคมไปกองไว้บนยอด แธตเชอร์ ยื่นเงินนับพันๆ ล้านปอนด์ไปให้คนรวย โดยการลดภาษี ลดการกำกับดูแลกิจการหลายๆ อย่าง เป็นการปล้นเงินจากประชาชนไปให้คนรวย

ยี่สิบปีให้หลัง เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ ตามมาด้วยวิกฤติหนี้ภาครัฐในยุโรป วิกฤติเหล่านี้เป็นผลพวงจากลัทธิแทตเชอร์ และเศรษฐศาสตร์แบบรีแกนที่เชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้เอง รัฐบาลควรลดการกำกับดูแล วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นฟ้องว่า ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาเองไม่ได้ สุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องลงมือแทรกแซงแก้ไขปัญหา เพราะตลาดล้มเหลว



กำลังโหลดความคิดเห็น