xs
xsm
sm
md
lg

“ขุนค้อน” ปากกล้าขาสั่น ถอยถีบสกัดเรื่องถึงศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

“ค้อนปลอม-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา ออกอาการขาสั่นไปตามคำขู่หลังจากโดนประชาธิปัตย์ประกาศหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะดำเนินการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

กรณีที่ สมศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อช่วงดึกคืนวันที่ 3 เมษายน 2556 ระหว่างการประชุมได้มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝั่งวิปรัฐบาลที่ต้องการให้สมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละคณะจากที่มีอยู่ 3 คณะ หากต้องการขอยื่นสงวนคำแปรญัตติต่อ กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยื่นภายในเวลา 15 วัน แต่ฝ่ายค้านเสนอต่อที่ประชุมให้ใช้เวลา 60 วัน

เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ทำให้สมศักดิ์ตัดสินใจว่าเมื่อที่ประชุมยังหาข้อยุติเรื่องเวลาตรงนี้ไม่ได้ จึงขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ

ปรากฏว่ามีผู้แสดงตน 295 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์จึงวินิจฉัยว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ถือว่าต้องแปรญัตติภายใน 15 วัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและสั่งปิดประชุมทันทีเมื่อ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ฝ่ายประชาธิปัตย์มองว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่จากผลพวงการวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ที่ให้เวลา 15 วันในการขอสงวนคำแปรญัตติ จึงกำลังหาช่องทางจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตรงจุดนี้

เพราะเห็นว่านายสมศักดิ์ทำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 59 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าหากเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับนี้กำหนดให้ที่ประชุรัฐสภาวินิจฉัยโดยการลงคะแนน ซึ่งการดำเนินของนายสมศักดิ์นั้นไม่ได้มีการเปิดให้สมาชิกโหวตลงมติที่มีการเสนอแต่อย่างใด

แต่กลับใช้ดุลพินิจของตัวเองตัดสินไปเอง จึงน่าจะทำไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ

แม้ล่าสุด สมศักดิ์จะยืนกรานว่าทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และที่ใช้ดุลพินิจดังกล่าวที่ให้เวลา 15 วันตามที่วิปรัฐบาลเสนอไม่ใช่การเร่งรีบรวบรัด

กระนั้น ขุนค้อนก็แง้มว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ไปคุยกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้โหวตว่าจะให้ใช้เวลา 60 ตามที่ประชาธิปัตย์เสนอหรือจะเป็น 15 วัน แล้วตกลงกันได้ ก็จะให้ประชุมกันวันที่ 18 เมษายนเพื่อลงมติว่าจะเอากรอบเวลาอันไหน ซึ่งหากเรียกประชุมจริงก็จะใช้เวลาลงมติไม่กี่นาทีก็เสร็จ

ดูแล้ว สมศักดิ์ออกอาการให้เห็นพอสมควร เพราะถึงจะยืนกรานทำถูกต้อง ไม่หวั่นไหวคำขู่ประชาธิปัตย์ที่บอกจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็แสดงท่าทีว่าพร้อมจะยุติเรื่องไม่ให้เรื่องราวไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้กังวลกันไปเปล่าๆ ทั้งกับตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาล

เรื่องนี้ก็ต้องดูทางประชาธิปัตย์เองด้วยว่าจะเอาอย่างไร หากทางสมศักดิ์-วิปรัฐบาล-วิปวุฒิสภา ยื่นมือมาให้ประชาธิปัตย์โดยยอมเสียหน้าจัดให้มีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติยุติปัญหาดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายภาคหน้า

ทางประชาธิปัตย์ก็ต้องคิดให้ดี เพราะหากชักมือกลับ ไม่จับมือด้วย กระแสสังคมอาจจะตีกลับได้

เนื่องจากว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะว่าไปแล้วก็ยังกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ยังพอมีเวลาอยู่ หากเห็นว่ากระบวนการที่เดินไปไม่ถูกต้อง ก็กลับมาตั้งหลักใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ปชป.ก็ออกมาแสดงความเห็นว่านายสมศักดิ์ควรจัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาใหม่เพื่อให้ลงมติว่าจะให้เป็น 15 วันหรือ 60 วัน แม้ว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างที่ตั้งขึ้นจะประชุมนัดแรกเลือกประธานกมธ.และตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.ไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังมองว่ายังไม่ถือว่าเสียหายอะไร ยังพอกลับไปแก้ไขใหม่ได้

แต่หากประชาธิปัตย์เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการรวบรัดเร่งรีบของสมศักดิ์เพื่อเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ยอมทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่รับฟังเสียงท้วงติงว่ากำลังทำในสิ่งที่ขัดหรือผิดกับข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่สามารถปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ต่อไปไม่ได้ไม่เช่นนั้นจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต ทำให้รัฐสภาขาดความศักดิ์สิทธิ์เพียงเพราะการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของประธานในที่ประชุมที่ดันทุกรังทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย

รวมถึงมองว่าที่สมศักดิ์บอกพร้อมจะจัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา 18 เมษายน ก็เพราะกลัวว่า ปชป.จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญจนทำให้สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่จะมาตกม้าตายถึงขั้นกลายเป็นโมฆะไปแบบง่ายๆ “สมศักดิ์” จะต้องรับผิดชอบโดนทักษิณและคนในพรรคเพื่อไทยด่าจนหูชา สมศักดิ์จึงมีท่าทีอ่อนลง
ถ้าประชาธิปัตย์จะยืนกรานยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลข้างต้น ก็ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจเพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่านายสมศักดิ์หรือวิปรัฐบาลที่เห็นด้วยกับการให้กลับมาเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ต่างก็ยอมโอนอ่อนมาแล้ว แต่ ปชป.กลับไม่ตอบรับเพียงเพราะต้องการให้เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ กระแสก็อาจตีกลับได้

เรื่องนี้ว่าไปแล้วต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดของวิปรัฐบาล-วิปวุฒิสภาเองที่งานนี้พลาดเต็มๆ ทั้งที่อุตส่าห์วางแผนรับมือประชาธิปัตย์กันมาอย่างดีตลอดการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วง 1-3 เมษายน 56 ซึ่งตลอดเวลาก็ถือว่าคุมเกมกันได้ดี แต่สุดท้ายก็มาพลาดตอนจบ

เพราะพอ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-สว.สายหนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ขานชื่อออกเสียงเรียงตามตัวอักษรกันเสร็จในเวลาเกือบจะตี 2 ใครที่ขานชื่อกันเสร็จคนแรกๆ ก็นึกว่าไม่มีอะไรแล้วผนวกกับก็เหนื่อยกันมา 3 วัน 3 คืน เลยออกจากห้องประชุมรัฐสภาดิ่งกลับบ้านกลับหมด

และเชื่อว่าทางวิปรัฐบาลก็คงตายใจ เห็นว่าพอผ่านการลงมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกเสียงท่วมท้นแล้ว ก็เลยไม่เข้มงวดในการคุมเสียง ไม่ทันคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในช่วงท้ายการประชุม

เพราะของแบบนี้ มันเห็นกันได้ในห้องประชุมว่าใครลุกเดินออกไปนั่งรถกลับบ้านไม่อยู่แน่แล้ว เห็นแล้วว่าคนหายไปจากห้องประชุมกันมาก ดูแล้วองค์ประชุมไม่ครบชัวร์ ก็ทำให้มีการชิงไหวชิงพริบกันอย่างที่เห็น

พอเจอ ปชป.ใช้แผนเสนอเวลายื่นขอสงวนคำแปรญัตติแตกต่างจากวิปรัฐบาล ซึ่งก็ต้องแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีการลงมติว่าจะเอาของฝ่ายค้านหรือวิปรัฐบาล แล้วมันก็ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อน ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น องค์ประชุมไม่ครบเพราะมี ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.รวมกันแค่ 295 คนจากที่ต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง 323 คน

เลยเสร็จประชาธิปัตย์อย่างที่เห็น เป็นบทเรียนที่วิปรัฐบาลคงเห็นแล้วว่า ไหวพริบการเมือง ยังเป็นรองประชาธิปัตย์อยู่เหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น