xs
xsm
sm
md
lg

ผู้มีอิทธิพล-คนดังในไทย แห่ตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิน-เคย์แมน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สำนักข่าวอิศรา” จับมือสื่อนอก เจาะข่าวการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต พบ นักการเมือง มหาเศรษฐี นักร้องดัง เป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่ปลอดภาษีทั่วโลก เผย “หญิงอ้อ” ดอดลงทุนเกาะบริติชเวอร์จิน ผ่านนอมินี 2 บริษัท ก่อนงดต่อใบอนุญาตในปีถัดมา ส่วน “บรรณพจน์” ใช้นอมินีเดียวกันโกยผลประโยชน์ 2 บริษัท ก่อนปิดตัวลงในเวลา 5 ปี

วันนี้ (4 เม.ย.) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists : ICIJ) ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนจาก 60 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของบุคคลทั่วโลกร่วมกัน ของผู้สื่อข่าว 86 คนจาก 46 ประเทศ และรายงานผ่านทางสื่อกว่า 30 องค์กรทั่วโลก เช่น หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยน (The Guardian) และสถานีโทรทัศน์บีบีซี ของประเทศอังกฤษ หนังสือพิมพ์เลอมองด์ (Le Monde ) ของฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ รวมทั้งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ของประเทศไทย ทำการเจาะข่าวการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) พบนักการเมือง มหาเศรษฐี นักร้องดัง หลากอาชีพกว่า 600 ราย เป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่ปลอดภาษีทั่วโลก

ที่มาจากข้อมูลในความครอบครองของ ICIJ ในครั้งนี้ ได้มาจากฐานข้อมูลลับของบริษัทนายหน้าให้บริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตใหญ่ระดับโลกสองราย คือ บริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์แต่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ และบริษัทคอมมอนเวลท์ ทรัสต์ ลิมิเต็ด (Commonwealth Trust Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิน โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยประกอบด้วยไฟล์ทั้งหมด 2.5 ล้านไฟล์ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและตัวแทนบุคคล 130,000 ราย และบริษัทนอกอาณาเขต 120,000 บริษัท

แม้ว่าการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือเขตปกครองที่มีกฎหมายปลอดภาษี และกฎหมายที่เอื้อต่อการปกปิดข้อมูลบริษัทจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ข้อได้เปรียบเรื่องปลอดภาษีและการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท ทำให้อาชญากร นักธุรกิจ และนักการเมืองทั่วโลกใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่นการเลี่ยงภาษี และการปกปิดการถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น

มีชื่อบุคคลและบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกว่า 600 ราย ที่เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น บริติช เวอร์จิน, เมอริเชียส และแกรนด์ เคย์แมน

ในจำนวนนี้ นอกจากเจ้าของกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีนักการเมืองและสมาชิกในครอบครัว, ตระกูลนักธุรกิจใหญ่, อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้อยู่ในวงการบันเทิงบางราย เช่น นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย, คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์, นายประเสริฐ ประคุณศึกษาภัณฑ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น, นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ร่วมกับสมาชิกในตระกูลว่องกุศลกิจบางราย และนักร้องชื่อดัง “แอ๊ด คาราบาว”

ข้อมูลจากบริษัท พอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต ชี้ว่า ในปี 2550 คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวของบริษัท พรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ (Premium Select Inc) ที่เกาะบริติชเวอร์จิน โดยใช้บริการของ UBS AG ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้บริษัทนอมินีที่จดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จินสองบริษัท คือบริษัทเอ็กซ์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Excorp Limited) และ แชร์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Sharecrop Limited) จดทะเบียนผู้อำนายการและผู้ถือหุ้นของบริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ตามลำดับ

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีคุณหญิงพจมานได้ใช้ประโยชน์บริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์หรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามพบว่าคุณหญิงพจมานไม่ได้จ่ายเงินค่าต่อใบอนุญาตบริษัทในปีถัดมา

ในขณะเดียวกัน พบว่านายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บริษัทที่บริติชเวอร์จิ้น จำนวนสองบริษัท โดยในปี 2547 นายบรรณพจน์จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่น (Bounty Harvest Corperation) โดยใช้บริษัทนอมินีเดียวกันกับคุณหญิงพจมานจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้น ไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกันว่าบริษัทบาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่นทำธุรกิจประเภทใด แต่บริษัทได้ปิดตัวลงในปี 2552

ในปี 2549 นายบรรณพจน์ซื้อบริษัท ทรอปปิก ออฟชอร์ โฮลดิ้ง อิ้งค์ (Tropic Offshore Holding Inc) และจดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม พบว่าชื่อเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ได้เปลี่ยนจากนายบรรณพจน์ เป็นนาย กาลิด โมฮัมหมัด กาดฟอร์ อัลเมไฮรี (Khalid Mohamad Kadfoor Almehairi) ในปี 255 การจดทะเบียนบริษัททั้งสองบริษัททำผ่านบริการของ UBS AG สิงคโปร์เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมาน

ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ผ่านทนายความส่วนตัว เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวชินวัตร กล่าวว่า “ผมไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ เพราะรับผิดชอบงานที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเข้าใจว่ามีทนายความคนอื่นดูแลอยู่”

นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ของคุณหญิงพจมาน กล่าวว่า “ผมรับผิดชอบดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินรัชดาฯ เท่านั้น คงไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แต่เท่าที่ทราบข้อมูลที่ระบุว่า คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ มีบริษัทอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จินน่าจะเป็นข้อมูลเก่า”

“เรื่องนี้น่าจะไปสอบถามคุณสมพร (พงษ์สุวรรณ) ทนายความส่วนตัวคุณหญิงพจมานที่รับผิดชอบคดียึดทรัพย์โดยตรงน่าจะดีกว่า”

ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความส่วนตัวคุณหญิงพจมาน หลายครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยนายสมพรไม่ติดต่อกลับหลังจากที่ได้ฝากข้อความไว้ที่ บริษัท สมพร แอนด์แอสโซซิเอทส์ จํากัด ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายของนายสมพร

นักการเมืองอีกผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อในฐานข้อมูล คือ นายประเสริฐ ประคูณศึกษาภัณฑ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดของแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เมทัลสิงค์ ไปรเวท ลิมิดเต็ด (Metalsing Private Limited) ที่ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับภรรยาและบุตร ซึ่งนายประเสริฐได้รายงานการถือหุ้นบริษัทดังกล่าวในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกเมื่อ พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศราไม่สามารถติดต่อนายประเสริฐเเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท วีเน็ต แคปิตอล อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด (Vnet Capital International Limited) ร่วมกับนักธุรกิจชาวไทยกลุ่มหนึ่งในปี 2541 พล.ร.อ.บรรณวิทย์เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนเองซื้อหุ้นบริษัทนี้ในจำนวนไม่มากโดยถือเป็นการลงทุน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารของบริษัทแต่ประการใด

“ผมซื้อหุ้นจำนวนน้อย เป็นการลงทุนส่วนตัว โดยคุณณรงค์ อินทเนตร ซึ่งพบกันในการประชุมกรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตปทุมวันด้วยกันเป็นคนชวน แต่ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของบริษัท เข้าใจว่าขณะนี้บริษัทได้แปรสภาพไปแล้ว” พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวและยืนยันว่าข้อมูลถูกต้อง เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าบริษัทนี้ตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จินใช่หรือไม่

นอกจากนักการเมืองแล้ว ยังพบว่ามีสมาชิกในตระกูลนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศไทยจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต เช่น นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ที่จดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นของบริษัท เดลี่ เลเจ้น อินเวสทเม้นท์ ลิมิดเต็ด (Daily Legend Investment Limited) เมื่อปี 2551 โดยใช้บริการของ โกลด์แมน แซคส์ (เอเซีย) แอลแอลซี ในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้ยุติการทำงานในปีถัดมา

นอกจากนั้นยังพบชื่อนายศักดิ์ชัย จิราธิวัฒน์ และนางสุรางค์รัตน์ จิราฒิวัฒน์ ภรรรยามีบริษัทชื่อ วินเทจ โกลด์ อินเวสต์เม้นท์ ลิมิดเต็ด (Vintage Gold Investment Limited) ที่บริติช เวอรืจิ้น เมื่อปี 2551 โดยบริษัทนี้จดทะเบียนผ่านบริการของ โกลด์แมน แซคส์ (เอเซีย) แอลแอลซี ในฮ่องกงเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เลขานุการของนายสุทธิธรรมแจ้งว่า นายสุทธิธรรมเดินทางไปต่างประเทศและยังไม่แจ้งกำหนดกลับที่แน่นอน ในขณะที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อนายศักดิ์ชัยและนางสุรางค์รัตน์เพื่อขอสัมภาษณ์ได้

สมาชิกตระกูลธุรกิจรายใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตคือนายอิสระ ว่องกุศลกิจ และสมาชิกในครอบครัวอีก 4 คนซึ่งทั้งหมดเป็นผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลมิตรผล โดย ปรากฏชื่อร่วมกันเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท แพน เอเซีย ชูการ์ ฟันด์ ลิมิดเต็ด (Pan-Asia Sugar Fund Limited) ที่เกาะแกรนด์ เคแมน โดยบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนก่อตั้งในปี 2541 ผ่านบริการของบริษัทเบเกอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ที่ฮ่องกง

สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เพื่อขอข้อมูลเพืมเติมในการรายงานข่าว ผ่านนางสาว สุภาวี ว่องกุศลกิจ สมาชิกในครอบครัวผู้ทำงานในกลุ่มน้ำตาลมิตรผล แต่ได้รับแจ้งจากนางสาวสุภาวีว่า นายอิศระได้ตัดสินใจไม่ให้ข้อมูล “ผู้ใหญ่ได้ตัดสินในไม่ให้ข้อมูล เพราะเป็นบริษัทส่วนตัว” โดยนางสาวสุภาวีกล่าวว่าบริษัทดังกล่าวไม่เกี่ยวกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล ทั้งยังไม่มีกิจกรรมใด (ไม่แอคทีฟ) แล้ว

ฐานข้อมูลของ ICIJ ยังระบุชื่อ นายยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” นักร้องนักดนตรีชื่อดัง ว่าได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท ซุเปอร์ป ออฟชอร์ อินเวสต์เม้นท์ จำกัด (Superp Offshore Investment Ltd.) บนเกาะเมอริเชียส เมื่อปี 2551

บริษัทดังกล่าวยังมีเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ร่วมอีกสองราย คือนายเสถียร เศรษฐสถิตย์ และนางนัฐชมัย ถนอมบุญ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวตะวันแดง ร่วมกับนายยืนยง

สำนักข่าวอิศราพยายามติดต่อนายเสถียรและนายยืนยงไปที่บริษัทคาราบาวตะวันแดงเพื่อขอสัมภาษณ์ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

***“นลินี-น้องชาย”ตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-นายพล“แองโกลา”หุ้นส่วน

สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้มีชื่อนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทยและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนายอนุรัช มิสรา น้องชาย เป็นผู้ถือหุ้นและผู้อำนายการบริษัท ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด (Hall Kingston International Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ในปี 2551

นางนลินีและนายอนุรัชเข้าซื้อบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด ด้วยการจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นางนลินีจะเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษา และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมในปีเดียวกัน โดยบริษัทบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด จดทะเบียนก่อตั้งเพียงสองวันก่อนหน้าที่บุคคลทั้งสองเข้าถือหุ้น คือในวันที่ 25 สิงหาคม 2551

ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน สำนักงานควบ คุมทรัพย์สินต่างชาติ ของกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุชื่อนางนลินี ทวีสิน ว่าเป็นหนึ่งในสี่ของบุคคลผู้ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินแก่ประธานาธิปดี โรเบิร์ต มูกาเบ้ และครอบครัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้นายมูกาเบ้สามารถดำเนินการทางการเมืองที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศซิมบับเวต่อไปได้ โดยผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆทางการเงินกับ พลเมืองชาวอเมริกัน อีกทั้งทรัพย์สินใดๆของผู้ถูกขึ้นบัญชีนี้ที่อยู่ในสหรัฐฯก็ต้องถูกอายัดตามกฎหมายของสหรัฐฯ

นางนลินีได้แถลงข่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯในช่วงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์ของตนเองกับครอบครัวมูกาเบ้นั้นเป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนซึ่งไม่มีการดำเนินธุรกิจใดๆเกี่ยวข้อง

นางนลินี ใช้ที่อยู่เลขที่ 33 อาคารซัคเซส ทาวเวอร์ ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ในการจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและถือหุ้นบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด โดยที่อยู่นี้เป็นที่อยู่เดียวกับบริษัทบางบริษัทที่นางนลินีและนายอนุรัชเป็นผู้ถือหุ้น เช่นบริษัทอะควาติส จำกัด และบริษัทโกลบอล โซล่า พาวเวอร์ จำกัด เป็นต้น

ส่วนนายอนุรัช ได้ใช้ที่อยู่เลขที่ 161 ลาดพร้าวซอย 115 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่อยู่ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยตรวจสอบก่อนหน้านี้พบว่าเป็นบ้านไม่มีผู้อยู่อาศัย โดยที่อยู่ดังกล่าวนางนลินีได้ระบุในรายงานบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเป็นที่อยู่ของมารดาของตน

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่าไม่ปรากฎชื่อบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด ในรายงานทรัพย์สินและหนี้สินของนางนลินีที่ส่งให้ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2555 ทั้งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่านางนลินีได้แจ้งสถานะความเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. ในช่วงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วงอื่นๆหรือไม่

ICIJ (www.icij.org) ได้ตรวจสอบข้อมูลสถานะบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้นเมื่อเร็วๆนี้และพบว่า บริษัทดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมาย ณ ปัจจุบัน แต่มีปัญหาความล่าช้าในการจ่ายค่าต่อทะเบียนบริษัทของปีนี้ อย่างไรก็ตามไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นบริษัทไปก่อนหน้านั้นหรือไม่

นอกจากนั้น ฐานข้อมูลเดียวกันยังระบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกับที่นางนลินีและนายอนุรัชจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการบริษัท ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด นายอนุรัช ยังได้จดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการของบริษัทที่เกาะบริติชเวอร์จิ้นอีกบริษัทหนึ่ง ชื่อ ซีโน คิง กรุ๊ป โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (Sino King Group Holding Limited) โดยถือหุ้นร่วมกับนาย เออร์เนสโต กูเอรา ปีเรซ (Ernesto Guerra Pires) ชาวแองโกลาคนละ 50 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าว ICIJ (www.icij.org) ในอัฟริการายงานว่านายปีเรซมีตำแหน่งเป็นนายพลในกองทัพแห่งชาติแองโกลา ซึ่งมีรายงานว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิปดี โฮเซ่ เอดูราโด โดส ซานโตส (Jose’ Edurado dos Santos) ของแองโกลา

สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ได้ติดต่อไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าไทย เพื่อขอให้ ดร.นลินีชี้แจงข้อมูลดังกล่าว เบื้องต้น ได้รับแจ้งจากเลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี ซึ่งระบุชื่อว่า “สุภาวี”ว่านางนลินี ไม่อยู่ที่สำนักงาน พร้อมขอทราบประเด็นที่ต้องการจะติดต่อ

เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แจ้งว่าต้องการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่ นางนลินี ปรากฏรายชื่อเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้น ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิตเต็ด ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ในช่วงปี 2551เลขานุการส่วนตัว ของนางนลินี ซักถามข้อมูลว่า ต้องการจะทราบข้อมูลเรื่องนี้ไปทำไม สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ชี้แจงไปว่า กำลังตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ดร.นลินี ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี ซักถามต่อว่า ทราบข้อมูลเรื่องนี้ มาจากไหน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ชี้แจงไปว่า มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ จากนั้น เลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี แจ้งว่า จะเรียนข้อมูลทั้งหมดให้ ดร.นลินี รับทราบ และติดต่อกลับมาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากนั้น ประมาณ 4 ชั่วโมง เลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี ได้ติดต่อกลับมา พร้อมระบุว่า แจ้งข้อมูลให้ ดร.นลินี รับทราบทั้งหมดแล้ว เบื้องต้น ดร.นลินี ยืนยันว่า ข้อมูลที่ระบุว่าตนเอง ไปถือหุ้นอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ไม่เป็นความจริงไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน

“ท่านนลินี ยืนยันว่า ไม่เคยรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อ ฮอลล์ คิงสตัน อะไรมาก่อนเลย ข้อมูลที่ระบุมาว่าท่านไปถือครองหุ้นอยู่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ท่านจะถือครองอยู่ในชื่อของ นายอนุรัช มิสรา น้องชาย ซึ่งถูกระบุว่ามีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ฮอลล์ คิงสตัน ด้วย เลขานุการส่วนตัว นาง นลินี แจ้งว่า “ท่านยืนยันว่าไม่เคยรู้จัก และคนในครอบครัวของท่านก็ไม่เคยเกี่ยวข้องด้วย”

มื่อถามว่า ดร.นลินี ยืนยันว่าไม่เคยรู้จัก และไม่เคยถือหุ้นใน ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น ใช่หรือไม่ เลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี กล่าวย้ำว่า “ท่านยืนยันว่าไม่เคยรู้จัก ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง”

นางนลินียังคงยืนยันปฏิเสธผ่านทางเลขานุการส่วนตัว เมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อกลับไปยังเลขานุการส่วนตัวของนางนลินีอีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันข้อมูลที่พบว่า มีการใช้ที่อยู่อาคารซัคเซสทาวเวอร์ในการจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด “ท่านยืนยันตามเดิมว่าไม่รู้จัก ไม่เคยเป็นผู้ถือหุ้น ไม่รู้จักอะไรทั้งสิ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเลขานุการส่วนตัว ดร.นลินี โดยเฉพาะ “นามสกุล” เพื่อนำไปใช้ยืนยันข้อมูล แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยเลขานุการส่วนตัวของ ดร.นลินี ที่ชื่อ สุภาวดี ระบุว่าไม่สะดวกที่จะให้นามสกุล แต่ยืนยันว่าตนทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัวของ ดร.นลินี ที่สำนักงานผู้แทนการค้าไทยจริง

สำนักข่าวอิศราพยายามติดตามขอการยืนยันตามหมายเลขโทรศัพท์สองหมายเลขที่จดทะเบียนในชื่อ นายอนุรัช มิสรา ปรากฏว่าหมายเลขแรกไม่มีผู้รับสาย ในขณะที่อีกหมายเลขหนึ่งมีชายต่างชาติรับสายโดยบอกว่าตนเองเป็นผู้เช่ารายใหม่ที่มาเช่าอยู่แทนนายอนุรัชที่ย้ายออกไปกว่า 6 เดือนแล้ว และไม่ทราบว่าย้ายไปอยู่ที่ไหน

ฐานข้อมูลซึ่ง ICIJ (www’icij.org) ได้มา ยังปรากฏชื่อ นายมุลเลอร์ คอนราด เราเทนบาค (Muller Conrad Rautenbach) นักธุรกิจชาวซิมบับเว ผู้ที่อยู่ในบัญชีต้องห้ามของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติของกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนางนลินี ว่าเป็นเจ้าของบริษัทออฟชอร์บริษัทหนึ่งที่บริติช เวอร์จินเมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาหลบหนีการฟ้องร้องคดีฉ้อโกงจากประเทศแอฟริกาใต้

นายเอียน สมิท (Ian Smith) ทนายความของนายเราเทนบาค กล่าวกับ ICIJ (www.icij.org) ว่า บริษัทที่ว่านี้ตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนที่กรุงมอสโก และตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทุกประการ แต่ปัจจุบันบริษัทนี้ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น