ผ่าประเด็นร้อน
จะเป็นเพราะเป็นพวกเดียวกัน เป็นนักการเมืองที่รู้สันดานด้วยกันดีหรือเปล่าก็ไม่รู้เมื่อได้เห็นคำพูดของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เจริญ จรรย์โกมล ที่โพล่งขึ้นมาอย่างรู้ทันว่า พลพรรคประชาธิปัตย์ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เต็มเสียง เพราะมีบางประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน
ปรากฏการณ์การที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นว่าสิ่งไหนก็ตามถ้าเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองแล้วละก็คนพวกนี้ก็ไม่ลังเล ทำนองนักการเมืองต้องมาก่อน
ถ้าถามว่ามีประเด็นไหนบ้างที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน ก็ต้องตอบแบบไม่อ้อมค้อมก็คือ ประเด็นที่จะให้แก้ไขในมาตรา 237 จะแก้ไขไม่ให้ถึงขั้นต้องยุบพรรค หากกรรมการบริหารทำความผิดก็ให้เป็นเรื่องของเฉพาะตัวบุคล โดยอ้างว่าพรรคเป็นของประชาชน รวมไปถึงประเด็นที่ต้องการแก้ไขให้มีแต่เฉพาะ ส.ว.เลือกตั้งเท่านั้น
ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าวล้วนแล้วเป็นผลประโยชน์ของตัวเอง อำนาจของตัวเองญาติพี่น้องและครอบครัวตัวเองทั้งสิ้น เรื่องแก้ไขไม่ให้ยุบพรรคการเมืองโดยอ้างว่าพรรคเป็นของประชาชน ฟังดูเผินๆ อาจจะใช่ ตามหลักการพรรคการเมืองในหลายประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนมีความเข้มแข็งและตื่นรู้อาจจะใช่ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ใช่แน่นอน และก่อนอื่นก็ต้องตั้งสมมติฐานว่าสันดานนักการเมืองไทย “ส่วนใหญ่” เลวและเห็นแก่ตัวใช่หรือไม่ก็ต้องตอบแบบไม่อ้อมค้อมว่าใช่ ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดล้วนเป็นแบบนั้น ดั้งนั้นเมื่อส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นก็ต้องมีกฎระเบียบเข้มงวด
อีกทั้งการเมืองเป็นเรื่องของการเสียสละ และกติตาดังกล่าวก็เขียนให้เห็นเอาไว้ล่วงหน้า ถ้ารู้สึกว่าตัวเองอึดอัด รำคาญทนไม่ไหว ก็ขอเชิญไปประกอบธุรกิจหรือไปทำมาหารับประทานทางอื่น อย่าเข้ามาเลย และที่สำคัญถามว่าถ้าบ้านเมืองขาดนักการเมืองที่มีอยู่ในสภาเวลานี้ ไล่ชื่อเข้ามาจากข้างนอกที่กำลังกินบ้านกินเมืองอยู่ในเลานี้ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง บรรหาร ศิลปอาชา เสนาะ เทียนทอง หรือในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีชื่ออย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือแม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เถอะ ถ้าขาดคนพวกนี้บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ก็สบายดีไม่เห็นมีปัญหาอะไร
แม้พรรคการเมืองอาจนำมาเทียบกันไม่ได้กับบริษัท ที่ทำไมเวลากรรมการบริหารทำผิดแล้วไม่ยุบบริษัท แต่ความหมายก็คือเมื่อทำผิดแล้วต้องรับโทษแน่นอน และบริษัทจะต้องมีความยุ่งยาก และที่สำคัญคนในบริษัทดังกล่าวไม่ได้โกงชาติ ผิดกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวพันกับประชาชนและอำนาจรัฐ และที่ต้องพิจารณาก็คือความเป็นพรรคการเมือง เป็นนักการเมืองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นที่รวมของคนดีที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากลับไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์แบบนี้จึงต้องมีข้อบังคับให้เข้มงวดกว่าเดิม และแม้ว่าจะเข้มงวดอย่างไรนักการเมืองเลวๆ พวกนี้พยายามดิ้นรนล้มเลิกกฎระเบียบอยู่ตลอดเวลา
ถ้าถามว่ากฎระเบียบเรื่องการยุบพรรคล้วนมีที่มาที่ไป ก็อย่างที่บอกว่าพรรคการเมืองล้วนมีนายทุนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ประชาชนเป็นเจ้าของ อีกทั้งถ้ากรรมการบริหารพรรคมีบทบาทจริงก็ต้องถ่วงดุลเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครทำอะไรนอกลู่นอกทาง อีกทั้งการยุบพรรคไม่ใช่จะยุบกันได้ง่ายต้องมีการตรวจสอบต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน
ส่วนประเด็นเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็เช่นเดียวกันพวกพรรคเพื่อไทย ส.ว.ขี้ข้าทั้งหลายคนพวกนี้ต้องการแก้ไข เพราะที่ผ่านมามีเรื่องของ “สภาทาส” ดังได้เห็นอยู่แล้ว ถ่าถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงมีท่าทีเห็นด้วย เพราะในหลายพื้นที่พวกเขาก็มีอิทธิพล ก็อยากให้มีสภาผัวสภาเมียเช่นเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้อยากตั้งคำถามไปถึงพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนกับที่เคยเสนอแก้ไขมาก่อนหน้านี้ก็เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านการเลือกตั้ง และคราวนี้ก็ไม่ต่างกันในเรื่องไม่ต้องยุบพรรคการเมือง รวมทั้งแก้ไขให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาวบ้านแต่อย่างใด
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีประเด็นหรือเรื่องใดก็ตามที่พวกนักการเมืองได่้ประโยชน์พวกเขาก็สนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ในความเป็นจริงสิ่งที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่ต่างจากการสร้างภาพตบตาเท่านั้น และคำถามต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็คือมีจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง หรือว่าสิ่งไหนที่ตัวเองได้ประโยชน์ก็เอาด้วยอย่างนั้นหรือ!!