“ชวนนท์” จี้ สอบ บ.ไอโอซี ลงทุนร่วม ปตท.สผ.กว่า 2.8 พันล้าน ทั้งที่ไร้ประสบการณ์ เชื่อมีปั่นหุ้นหลัง “นช.แม้ว” บินปาปัวฯ ก่อนนายกฯ คาดมีเอื้อประโยชน์ เหตุมีคนรับค่านายหน้า 3 หมื่นล้าน จี้ รบ.แจง ข้องใจข้าวไทยลำบาก กลับช่วยเขมรเปิดเขตการค้าข้าวพิเศษ เสี่ยงสวมสิทธิ์
วันนี้ (25 มี.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงการเยือนประเทศปาปัวนิวกินี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจด้านพลังงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีการนัดเจรจาธุรกิจระหว่างบริษัท การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กับบริษัทอินเตอร์ออยส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือไอโอซี ของประเทศปาปัวนิวกินี โดยมีการลงทุนทั้งหมด 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วของปาปัวนิวกีนีเคยยกเลิกสัมปทานของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนและไม่มีก๊าซธรรมชาติเหลวจริง แต่กลับไปได้สัมปทานจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของปาปัวนิวกีนีและเป็นตัวแทนรัฐบาลที่จะไปเจรจากับ ปตท.สผ. และในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว เป็นการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง
“จึงอยากให้ทำการตรวจสอบว่าบริษัท ไอโอซี มีประสบการณ์และมีการดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ เพราะมีความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างมาก โดยอาจจะเอื้อผลประโยชน์มหาศาลให้กับใครบางคน เพราะการลงทุนในครั้งแรกเป็นเสมือนการจองสิทธิ์ในการสำรวจพลังงานของ ปตท.สผ. มีคนได้ค่านายหน้าจากการเจรจาดังกล่าวไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และหลังจากมีข่าวว่าบริษัท ไอโอซีจะมีการลงทุนกับ ปตท.ของไทย ได้มีการตั้งบริษัทเพื่อรองรับการลงทุนในครั้งนี้โดยเฉพาะ เพื่อจุดประสงค์ในการปั่นหุ้นในบริษัท ไอโอซี ให้สูงกว่าราคาตลาด 3 เท่า ดังนั้นจึงอยากขอคำชี้แจงจากรัฐบาลไทยว่า การเจราจาดังกล่าวไทยได้ประโยชน์อย่างไรหรือไม่ หรือเอื้อให้กับคนบางคนที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อรัฐบาลชุดนี้” นายชวนนท์กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงว่า ตนตั้งข้อสงสัยถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาต่อการเปิดเขตการค้าข้าวพิเศษ ทั้งที่การส่งออกข้าวของไทยเองประสบกับความยากลำบากซึ่ง ขอตั้งคำถามคือ 1. ขณะนี้มีข้าวล้นสต็อกอยู่ในโกดังไม่ต่ำกว่า 17 ล้านตัน เหตุใดกระทรวงพาณิชย์ของไทยจึงมีความคิดทีจะนำข้าวจากประเทศกัมพูชาเข้ามาแปรสภาพในประเทศไทยเพื่อความส่งออก 2. การดำเนินการลักษณะนี้จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการที่ข้าวคุณภาพต่ำจากประเทศกัมพูชาไหลทะลักเข้ามายังตลาดชาวนาไทยโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และหากรัฐมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตการค้าข้าวพิเศษ ตรงนี้ถามว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะป้องกันการไหลทะลักเข้ามาของข้าวคุณภาพต่ำอย่างไร 3. ตนคิดว่าการดำเนินการลักษณะนี้อาจจะเป็นการจงใจของรัฐบาลที่จะหาทางระบายข้าวคุณภาพต่ำในโรงสีของรัฐบาล หรือโกดังของรัฐบาล แต่วิธีการเปิดเขตการค้าข้าวพิเศษแบบนี้ จะเป็นอีกวิธีการที่รัฐบาลไทยอาจจะเอาข้าวคุณภาพต่ำของรัฐบาลไทย ว่าเป็นข้าวเขมรเพื่อส่งออกในราคาถูกต่อไปหรือไม่
“ขอเรียกร้องรัฐบาลว่า ไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะไปกระทำการเปิดเขตการค้าข้าวพิเศษกับกัมพูชา เพราะปัญหาของข้าวไทยก็ยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้เลย จึงอยากให้ทบทวนการดำเนินการดังกล่าว หรือหากจะดำเนินการต่อก็อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้ตอบคำถามตนทั้ง 3 ข้อก่อนว่า ทำไปแล้วไทยจะได้อะไร และจะป้องกันผลเสียหายจากการสวมสิทธิ์ข้าวเขมรหรือแม้แต่เอาข้าวไทยไปสวมเป็นข้าวเขมรเพื่อส่งออกตรงนี้รัฐบาลจะป้องกันอย่างไร” ยชวนนท์กล่าว