xs
xsm
sm
md
lg

เสวนา “ตอบโจทย์” ผอ.TPBS อ้างต้องเปิดเวทีสาธารณะให้วิจารณ์ทุกเรื่องได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จุฬาฯ เสวนา “ตอบโจทย์” ผอ.สถานีอ้างไทยพีบีเอสเป็นพื้นที่กลางต้องเปิดเวทีสาธารณะให้วิจารณ์สถาบันได้ “อาจารย์ปริญญา” ระบุประเด็นไม่ใช่พูดถึงสถาบันได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะพูดอย่างไรให้เกิดความสมดุล เหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ด้าน “จุมพล” แนะต้องดูที่ความเหมาะสมในประเด็นสาธารณะ เหตุเป็นประเด็นที่มีโอกาสขัดแย้งสูง หวั่นสังคมแตกแยก รอง ปธ.กสทช.ชี้ ผอ.สถานีมีสิทธิ์ยุติการออกอากาศได้หากเห็นว่าล่อแหลม เพราะจะต้องตกเป็นจำเลยที่ 1

ที่ห้องประชุมชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาสาธารณะ “ตอบโจทย์ เรื่อง ‘ตอบโจทย์’: ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 1. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ 4. นายจุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านศิลปวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสถานีวิทยุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีประชาชน นักศึกษา เข้าร่วมรับฟังประมาณ 80 คน

นายสมชัยกล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าจะทำอย่างไรให้รายการตอบโจทย์ดำเนินต่อไป แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนการทำงานกันใหม่อยู่ ขณะที่สื่อสาธารณะในประเทศที่เป็นสังคมประชาธิปไตยจะมีความเสรีภาพจากการแทรกแซงจากทุกกลุ่ม และเป็นดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของทั่วโลกในประเทศอื่น จึงการันตีสิทธิเสรีภาพไว้แล้ว

ส่วนเรื่องตอบโจทย์มีคำถามว่าเร็วเกินไปหรือไม่ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สื่อสาธารณะต้องมีบทบาทให้หลายฝ่ายมาพูดอย่างมีสติอย่างเปิดเผย มีคนถามว่าเป็นวาระหรือไม่ หลังจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาทันที แต่เรื่องมาตรา 112 เป็นวาระข่าวหรือไม่ ตนเห็นว่าน่าจะใช้ แต่มีคนกล่าวหาว่าจะทำให้แตกแยก จึงจะทำอย่างไรให้มีการพูดกันอย่างมีเหตุผล ให้มีการหักล้างกันบนเวที ซึ่งมีคนถามเลือกหมวกใบไหน ตนเลือกหมวกไม่เผชิญหน้าในสถานการณ์ขณะนั้น แต่มีการเลือกเฉพาะบางคำของรายการในโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงเกิดปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม ใครจะประณามตนไม่เป็นไร แต่ตนจะทำหน้าที่สื่อสาธารณะต่อไป

“คนไทยพีบีเอสอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เราเป็นสื่อไม่จำเป็นต้องเข้าข้างใคร ผมไม่รู้สื่ออื่นเป็นอย่างไร ถึงผมก็ไม่เห็นด้วยในคำพูดของนายสมศักดิ์ หลายเรื่อง แต่เราเป็นพื้นที่กลางต้องมีเวทีนี้”

ด้านนายปริญญากล่าวว่า ถ้าถามว่าเราจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยเพื่อการฟังอย่างมีเหตุผล ตนเชื่อว่าเราต้องการ แต่กรณีรายการตอบโจทย์ตอนที่ 5 ก็มีประเด็นที่พูดกันวันนี้ว่าถ้าไม่ออกอากาศเรื่องคงจะยุ่งและคุยยากกว่านี้ ในระบอบประชาธิปไตยความแตกต่างธรรมดาที่สุด แต่ความแตกแยกจะทำให้เสียหาย จึงต้องมีกติกาออกมาในเรื่องกฎหมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเทปดังกล่าวมีการดูแล้วจากฝ่ายบริหาร และมีเสียงสะท้อนจากผู้ที่ไม่พอใจที่มีการพูดถึงสถาบัน ซึ่งตนเข้าใจว่าอาจมีการติดใจเรื่องตัวบุคคลที่ออกรายการว่ามีความสมดุลหรือไม่ ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนในท่ามกลางความขัดแย้งในความเห็นที่แตกต่าง ตนมองว่ากรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะในทางกฎหมายที่ดูชอบกล เพราะกรรมการนโยบายบอกดูเทปแล้วออกได้ แต่คำแถลงของกรรมการนโยบายตนอ่านแล้วว่าคงเห็นใจนายสมชัยที่อยู่ในสถานการณ์นั้น จึงจำเป็นต้องชะลอรายการไปก่อน

“ประเด็นไม่ได้พูดถึงสถาบันได้หรือไม่ แต่จะพูดถึงอย่างไร ผมเห็นว่าเป็นการพูดคุยอย่างมีเหตุผลตามสิทธิรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นพื้นฐานของการรับฟัง ให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด เรื่องสถาบันไม่ใช่พูดไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าพูดอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราจึงควรมีพื้นที่สาธารณะมาคุยกัน จึงต้องมีความระมัดระวังในการนำเรื่องละเอียดอ่อนมาคุย ผมเห็นด้วยว่าต้องเปิดพื้นที่ให้คุยกันได้อย่างรับผิดชอบต่อตนเอง และคนที่คิดอีกอย่าง เรื่องเหลือง แดง ยังพอคุยกันได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีโอกาสขัดแย้งสูงกว่าเรื่องอื่น ถ้ามานั่งฟังกันจะมีโอกาสมากขึ้น จึงต้องใจกว้างความเห็นที่แตกต่าง แต่ครั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าเป็นบทเรียนที่เราจะต้องมาเรียนรู้ร่วมกันและให้โอกาสกัน”

ด้านนายจุมพลกล่าวว่า ต้องดูเรื่องความเหมาะสมในประเด็นสาธารณะ เพราะประเด็นที่ละเอียดอ่อน มีโอกาสขัดแย้งรุนแรง การทำให้หน้าที่ด้านสื่อมวลชน ต้องยืนหลักการของความมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารต่อไป แต่จะปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าไม่ยึดถือก็ไร้ค่า ตนเห็นว่าปรัญชาการทำงานสื่อ ต้องถ่วงดุล แต่จะห้ามไม่ได้ว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ เพราะเมื่อหยิบประเด็นสาธารณะก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการโต้แย้ง แต่ก็มีความจริงบางอย่างจะถูกเปิดเผย มีมุมมองอื่นเพิ่ม อย่างนี้จึงเป็นเรื่องของสื่อที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานเหตุผล หลักฐาน พยานที่น่าเชื่อถือได้ แต่ไม่ใช่มาใช้อารมณ์มาใส่กัน ไม่เช่นนั้นสังคมหาทางออกได้อย่างไร

“สื่อมวลชนต้องมีหลักการทำงานเพื่อสาธารณะจริงๆ อยากให้ไทยพีบีเอสมองตรงนี้ให้มาก และอยู่บนพื้นฐานของสื่อที่ดี แต่ต้องพัฒนาเรื่องทีวีสาธารณะอีกหลายระดับ”

ขณะที่ พ.อ.นทีกล่าวว่า การออกอากาศของโทรทัศน์ ผู้อำนวยการสถานีมีอำนาจจะยุติหรือออกอากาศรายการได้ เพราะเมื่อออกอากาศแล้วผิดกฎหมายผู้อำนวยการสถานีก็เป็นจำเลยที่ 1 แต่การดำเนินการในกรณีนี้เป็นบรรทัดฐานทั้งสิ้น เพราะความละเอียดอ่อนตรงนี้เป็นสิ่งใหม่ จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง แต่เรื่องนี้ตนก็เข้าใจนายสมชัยเพราะเป็นกรณีที่แรกที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสผู้ที่มาเข้าร่วมฟังเสวนาถามคำถามต่อวิทยากร โดยนางพัฒนจรินทร์ สวนแก้วมณี ผู้ชมที่ติดตามรายการตอบโจทย์ ได้ถามผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าการนำประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์มาออกนั้นตนไม่ได้ต่อต้านและพร้อมรับฟัง แต่ดูบริบทโดยรวมแล้วเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากมายในขณะนี้ เช่น เรื่องความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าว เรื่องเงินกู้ 2.2 ล้านบาท ที่ควรจะตอบโจทย์ประชาชนและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้ โดยนำผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงมากกว่า เพราะการที่นำประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์ที่มีการออกอากาศถึง 5 ตอนนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่ากับปัญหาปากท้อง และนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้มากกว่า

ทั้งนี้ ตนมีความคาดหวังสูงต่อทีวีสาธารณะที่รับเงินจากภาษีประชาชน แม้ตนจะไม่ใช่ผู้ที่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ภาษีจากประชาชนเช่นกัน ดังนี้ควรทำเรื่องที่เป็นสาธารณะและตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนที่ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสระบุว่า ต้องทำงานบนพื้นฐานความปลอดภัยของพนักงานและรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินขององค์กรนั้น ทำให้ตนรู้สึกผิดหวังอย่างมากในฐานะประชาชนที่คาดหวังกับวิชาชีพสื่อไว้สูงโดยเฉพาะสื่อสาธารณะ ว่าเหตุใดจึงกลัวม็อบที่มากันไม่กี่คน ถ้าเทียบกับสถานีอื่นที่โดนบุกรุกมากกว่านี้ อย่างเช่นกรณีม็อบบุกเนชั่น หรือกรณีทหารบุกเอเอสทีวี








กำลังโหลดความคิดเห็น