xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.อัดรัฐกู้ 2.2 ล้านล้านพาชาติสู่ปากเหว ชี้ไฟใต้คุสะท้อนเจรจาเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกประชาธิปัตย์ จี้นายกฯ เร่งแถลงผลงานรัฐบาล ก่อนดันกู้ 2.2 ล้านล้านเข้า ครม. เย้ยเป็นเลดี้กูกู้ ชี้มากกว่าสมัยต้มยำกุ้ง ทำหนี้สาธารณะ แถมบางโครงการไร้รายละเอียด เชื่อนำพาชาติสู่ปากเหว แนะทักท้วง “แม้ว” ระบุเหตุร้ายใต้สะท้อนปาหี่เจรจาโจกโจร

วันนี้ (16 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ว่า ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกมาแถลงผลงานของรัฐบาลโดยเร็ว ก่อนมีการผลักดันโครงการใหญ่สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ตนขอเรียกเรื่องนี้ว่า “เลดี้กูกู้” เพราะครั้งนี้เป็นการกู้เงินมาถึง 4 เท่าตัวมากกว่าในสมัยต้มยำกุ้ง แต่ ครม.ก็ยังจะทำเดินหน้ากู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทก็จะทำให้เกิดหนี้สาธารณะ และเท่าที่ทราบเอกสารบางโครงการไม่มีใครเห็นรายละเอียดแต่ละโครงการ แต่กำลังผลักเผือกร้อนไปที่สภา จะทำให้ประเทศไทยจะไปสู่ปากเหวได้ จึงขอรัฐบาลได้ฟังเสียงจากทุกฝ่ายก่อน

“การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านคน ประชาชนคนไทยจะร่วมกันเป็นหนี้ 50 ปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆกำลังถููกนำมาอ้างในการใช้งบประมาณ เรื่องนี้จึงเป็นการลุแก่อำนาจของคนที่อยู่นอกประเทศจะนำชาติไปสู่ปากเหว ซึ่งโครงการต่างๆ มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงไม่น่าไว้วางใจ อยากให้นายกรัฐมนตรีแสดงภาวะความเป็นผู้นำตัวจริง โดยการทักท้วงพี่ชายของตัวเอง เพราะตัวเลข 2.2 ล้านล้านบาท จะเป็นการกู้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งในสภาก็ไม่มีใครจะรับผิดชอบใช้หนี้ได้ทั้งหมด ภายหลังยกมือผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว” น.ส.มัลลิกากล่าว

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังแถลงถึงสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ยังมีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นการประจานการปาหี่ในเรื่องการเจรจากับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไม่ตอบคำถามของสื่อมวลชน จึงเห็นว่าภาวะการฝึกงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดเวลาแล้ว ทั้งที่ความจริงเมื่อเกิดเหตุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเร่งประชุมกับฝ่ายความมั่นคง แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เห็นจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการเจรจายังเป็นวิถีการที่ต้องทบทวนหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น